กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
กระแสวิกฤติ ‘ อาชีวะแรงงานขาดแคลน แต่ทำไมเด็กไทยกลับเรียนอาชีวะน้อยลง ’ กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมขณะนี้
รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) และนายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จึงมีความมุ่งมั่นและพยายามที่จะผลักดันสร้างโมเดลใหม่ในประเทศไทย เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพและศักยภาพ ยกระดับ ‘เด็กอาชีวะ’ สู่ความเป็นเลิศ ทั้งวิชาการและทักษะฝีมืออย่างมืออาชีพที่เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน โดยใช้ยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาศักยภาพอาชีวศึกษา ด้วยระบบ ‘ทวิภาคีไทย-เยอรมัน’
“ระบบทวิภาคี เป็นกลยุทธ์ที่พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและสมรรถนะสูงที่สอดคล้องตรงต่อความต้องการของแรงงาน และการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ทั่วโลกถือเอาการจัดการระบบทวิภาคีของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นแม่แบบ ประเทศที่นำวิธีการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีไปประยุกต์ใช้แล้วประสบความสำเร็จ ได้แก่ ออสเตรเลีย สมาพันธรัฐสวิส เดนมาร์ก สวีเดน โรมาเนีย จีน และเกาหลี โดยการนำไปประยุกต์ดัดแปลงรายละเอียดให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานในประเทศนั้นๆ
นับเป็นนิมิตรที่ดี ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามสัญญาว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทย-เยอรมันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไทยและเยอรมันแสดงเจตนาที่จะร่วมกันพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อคุณภาพของนักเรียนอาชีวะสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะสอดคล้องกับความต้องการแรงงาน โดยได้เรียนทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติในสถานที่ทำงานจริงอย่างสมดุล” รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช กล่าว
พร้อมกันนี้ กลุ่ม The State Academy สถาบันด้านการอบรมและพัฒนาบุคลากรที่กำกับการดูแลโดยรัฐมนตรีการศึกษา เยาวชน และการกีฬา แห่งรัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นำทีมโดย มิสอลิซาเบธ โมเซอร์ ผู้อำนวยการและคณะกรรมการบอร์ดฯ พร้อมคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมสาขาวิชาชีพต่างๆ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)ไม่ว่าจะเป็นสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคารโรงเรียน ศูนย์แมคคาทรอนิกส์ และศูนย์เทคนิคยานยนต์ โดยให้ความคิดเห็นและแนวทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กอาชีวะสยามเทค
“การเลือกเส้นทางเดินทางการศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะประกอบอาชีพอะไร เมื่อมุ่งมั่นมาทางสายอาชีวะที่ท้าทายความสามารถสู่สังคมสมัยใหม่ ต้องก้าวไปอย่างเชื่อมั่น พร้อมเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะมีสูง” มิสอลิซาเบธ โมเซอร์ กล่าว
โอฬาร เหมวัล วัย 20 ปี ระดับปวส.2 สาขาธุรกิจการโรงแรมและการบริการ ได้ไปฝึกงาน ที่โรงแรมสวิสโซเทล (Swissotel) ประเทศสิงคโปร์ ในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า- -
“ผมเพิ่งกลับมาครับ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้รับทั้งความรู้ ทั้งประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เราสนุก ตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้เรามีทักษะ ความเชี่ยวชาญมากขึ้น แล้วแถมยังมีรายได้ดีด้วย ดีใจมากๆ และหากฝึกงานจบแล้ว ถ้าเขารับผมเข้าทำงานที่นี่ ผมตัดสินใจทำงานทันที เพราะจะมีรายได้ต่อเดือน ประมาณเกือบ 60,000 บาทครับ”
อมฤต เตชะรัตนะนำชัย วัย 20 ปี ปวส. สาขาเทคนิคยานยนต์ กล่าวว่า- - “เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยดีครับ เพราะสิ่งที่เราเรียนรู้ภาคทฤษฎีเมื่อมาปฏิบัติทำให้เข้าใจมากขึ้น ทั้งเป็นการได้ฝึกฝีมือ ทำให้เกิดความชำนาญยิ่งขึ้น แล้วที่ดีที่สุดคือ ได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น แถมยังมีรายได้อีกยิ่งดีครับ คิดว่าเมื่อจบแล้ว ผมคงได้เข้ารับการทำงานเลยครับ หรืออาจจะไปสมัครที่อื่นๆ ก็ง่าย เพราะเรามีประสบการณ์ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครครับ”
รศ.ดร.จอมพงศ์ มาคลวนิช กล่าวเสริมในเรื่องของ ‘อาชีวะแรงงานขาดแคลน แต่ทำไมเด็กไทยกลับเรียนอาชีวะน้อยลง’ นั้น อันดับแรกควรจะสร้างค่านิยมใหม่ในการเรียนสายอาชีวศึกษา และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลควรจะมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่จะสนับสนุนกิจกรรมทวิภาคีในประเทศไทย
“นอกจากนี้ควรจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขยายผลการเรียนการสอนระบบทวิภาคีในสถานศึกษาทั้งของรัฐบาลและของเอกชน และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงสาขางานช่างอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ควรขยายไปถึงสาขาด้านการบริหารและการบริการด้วย
...ทั้งควรสนับสนุนอาชีวศึกษาทวิภาคีให้มีบทบาทที่จะสนับสนุนสถานประกอบการที่ร่วมมือกับสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ซึ่งจะเป็นเรื่องดีในการพัฒนาอาชีวศึกษาให้ก้าวไกลสู่เวทีระดับโลก”
เพื่อผลักดันแผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาศักยภาพอาชีวะ ให้ก้าวเติบโตในเส้นทางอาชีพของเด็กอาชีวะไทยสู่อนาคตที่สดใส