“น้ำบาดาล - กปภ.” MOU ร่วมศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Riverbank Filtration)

ข่าวทั่วไป Tuesday August 5, 2014 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จับมือ การประปาส่วนภูมิภาค ลงนาม MOU ร่วมศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Riverbank Filtration) ปูทางการบริหารจัดการน้ำบาดาลควบคู่กับน้ำผิวดิน สอดรับกับแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ อย่างเป็นระบบ และเตรียมพร้อมรองรับความต้องการน้ำของประชาชนในอนาคต เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2557 ที่อาคารประปาวิวัฒน์ สำนักงานใหญ่การประปาส่วนภูมิภาค นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการ การประปาส่วนภูมิภาค ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Riverbank Filtration) ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการ (วิชาการ) การประปาส่วนภูมิภาค ร่วมเป็นพยาน จากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและการประปาส่วนภูมิภาคได้ตระหนักถึงปริมาณและ สัดส่วนความต้องการใช้น้ำของประเทศในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม ที่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาหรือหาวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีการกักเก็บน้ำดิบได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของประชาชน รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงร่วมกันสนับสนุนการศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Riverbank Filtration) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำบาดาลควบคู่กับน้ำผิวดิน ทั้งนี้ ระบบ Riverbank Filtration หรือ RBF เป็นระบบสูบน้ำผสมผสานระหว่างน้ำบาดาล ที่กักเก็บในชั้นตะกอนร่วนและน้ำในแม่น้ำที่ซึมผ่านชั้นกรวดทรายสู่ชั้นน้ำบาดาลตามชายฝั่งแม่น้ำ ทำให้ได้น้ำที่ผ่านการกรองและปรับปรุงคุณภาพโดยธรรมชาติขึ้นมาใช้ ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปา สำหรับการอุปโภคบริโภค โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เริ่มดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Riverbank Filtration) มาตั้งแต่ปี 2554 มีการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำสายหลักของประเทศ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมกราคม 2556 ระยะที่ 2 สำรวจออกแบบขั้นรายละเอียดในพื้นที่ศักยภาพเหมาะสม 3 พื้นที่ที่ได้จากการศึกษาระยะที่ 1 ได้แก่ พื้นที่จังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร และอุทัยธานี เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 พื้นที่ และออกแบบก่อสร้างขั้นรายละเอียด สำหรับดำเนินการก่อสร้างเป็นพื้นที่นำร่อง โดยคาดว่าโครงการในระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2558 นี้ ระยะที่ 3 ดำเนินการก่อสร้างระบบ และทดลองผลิตน้ำในพื้นที่นำร่อง รวมทั้งการติดตามและประเมินผลความสำเร็จและอุปสรรค สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 นั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำเป็นต้องใช้พื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาคในการศึกษาทดลองโครงการฯ ดังนั้น จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อลงนามประสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้งสองหน่วยงาน และจะสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากร น้ำบาดาลและการประปาส่วนภูมิภาคได้มีความร่วมมือในการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนมาโดยตลอด นับตั้งแต่โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” มีการบูรณาการร่วมมือจัดหาน้ำให้ประชาชนในช่วงภัยแล้งและน้ำท่วม และที่สำคัญอีกทางหนึ่ง การประปาส่วนภูมิภาคได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกำกับดูแล การประกอบกิจการน้ำบาดาลร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และการประปาส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่ความร่วมมือกันในการศึกษาและผลักดันโครงการไปสู่ความสำเร็จ และก่อให้เกิดการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ