กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันฯ เตือนดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวเข้าเวียดนาม ประกอบกับร่องฝนพาดผ่านภาคใต้มีกำลัง
แรงขึ้น ส่งผลให้ช่วงวันที่ 29 ต.ค. — 2 พ.ย. 48 มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันฯ ได้ติดตาม
ตรวจสอบสถานการณ์และสภาวะอากาศในขณะนี้ ทราบว่า พายุดีเปรสชั่นซึ่งอาจมีกำลังแรงขึ้น เคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ มุ่งเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ทำให้กระแสลมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ร่องฝนที่พาดผ่านภาคใต้ของไทย จะเพิ่มกำลังแรงขึ้นเช่นกัน ทำให้บริเวณพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ลมกระโชกแรง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และโคลนถล่ม ในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2548 นี้ ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 16 จังหวัด ดังนี้ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรง ห่างจากฝั่งบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นจะสูงถึง 2 — 3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันฯ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์, เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา รวมทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 16 จังหวัดดังกล่าวข้างต้น เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรกล ให้พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาในทันทีที่เกิดภัย นอกจากนี้ กรมป้องกันฯ ได้ประสานไปยังผู้ว่าฯ ใน 16 จังหวัดเสี่ยงภัย ให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติในระยะนี้ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลกลุ่มฝนจากเรดาห์ตรวจอากาศจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา (www.tmd.go.th) ทุกชั่วโมง หรือคำเตือนจากกรมป้องกันฯ อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ข้อมูลระดับน้ำทะเล ระดับน้ำในแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัย จะได้ประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มความระมัดระวัง ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์ผิดปกติ ให้ขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของไว้บนที่สูง และรีบอพยพจากพื้นที่โดยด่วน ในการนี้ หากพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป--จบ--