กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ก.ค. พบว่าผู้บริหารเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคสช.
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 429 คน ระหว่างวันที่ 15-28 กรกฏาคม 2557 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีด้านเศรษฐกิจในเดือนกรกฏาคม มีค่าเท่ากับ 27 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนถึง 15 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช.และคาดการณ์ดัชนีเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นถึง 38 จุด ในเดือนสิงหาคม
นโยบายเศรษกิจ ปัจจัยหลักกระตุ้น
ปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช. ได้ 4.3 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของประชาชนได้ 4.2 คะแนนเท่ากัน ลำดับที่สี่และห้า คือ ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ/นักลงทุน และการขาดแคลนแหล่งเงินทุน ได้ 4.1 คะแนนเท่ากัน
รายได้เพิ่ม สภาพคล่องยังทรงตัว
ด้านดัชนีการทำธุรกิจมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงาน เมื่อพิจารณาถึงดัชนีด้านรายได้ในกรกฎาคม พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 24 จุดและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 จุดในเดือนสิงหาคม สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งจากมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช.
ส่วนดัชนีต้นทุนได้ปรับเพิ่มเป็น 18 จุด และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น 17 จุดในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมมีค่าค่อนข้างใกล้เคียงกัน สะท้อนให้ว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีการชะลอตัวลง แต่เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องที่กระทบต่อธุรกิจตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าติดลบ โดยมีค่า -29 จุดในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -30 จุดในเดือนสิงหาคม
ด้านดัชนีการจ้างงานปรับตัวเป็นบวกสองเดือนติดต่อกัน โดยเพิ่มจาก 3 จุดในเดือนมิถุนายน เป็น 4 จุดในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะคงอยู่ที่ 4 จุดในเดือนสิงหาคม ซึ่งการที่ดัชนีการจ้างงานไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและรายได้เนื่องมาจากธุรกิจยังมีปัญหาสภาพคล่อง และยังไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มศักยภาพ จึงไม่จำเป็นต้องจ้างงานเพิ่มมากนัก
จากผลสำรวจเดือนกรกฏาคม จะเห็นได้ว่านักบริหารเริ่มให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากการที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ และยังออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนา การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การพิจารณาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยเผชิญสภาพปัญหาขาดสภาพคล่องมากว่า 15 เดือน อาจต้องรอถึงไตรมาส 4 จึงจะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเกิดสภาพคล่อง และอัตราการจ้างงานที่ดีได้อย่างชัดเจนขึ้น