กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตไข่ไก่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตและตลาดไข่ไก่ของประเทศไทย โดยในปี 2557 ได้ประมาณการผลผลิตไข่ไก่ทั้งหมด จำนวน 14,265 ล้านฟอง มากกว่าปีที่แล้ว 756 ล้านฟอง แบ่งเป็นผลผลิตช่วงครึ่งปีแรกระหว่างเดือนมกราคม- มิถุนายน 2557 มีผลผลิตไขไก่ จำนวน 7,081 ล้านฟอง ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ครึ่งปีหลังเดือนระหว่างกรกฎาคม- ธันวาคม 2557 จำนวน 7,184 ล้านฟอง ส่วนต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในขณะนี้เฉลี่ยฟองละ 2.99 บาท ราคาขายฟองละ 3.30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนด คือ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม = ต้นทุนการผลิต+15-20% ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่แล้ว ซึ่งเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตและสถานการณ์ไขไก่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลไกด้านการตลาดไข่ไก่มีทั้งช่วงที่ราคาขึ้นสูงและช่วงที่ผลผลิตออกมาแต่การบริโภคน้อย เช่น ระหว่างโรงเรียนปิดภาคเรียน หรือเทศกาลกินเจ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาไข่ไก่ลดลงและผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุน ดังนั้น สมาคมผู้เลี้ยงไขไก่เห็นว่า ควรมีการหารือในการกำหนดด้านราคาอีกครั้ง เนื่องจากไขไก่ที่จะขายในราคา 3.30 บาท มีหลายขนาด จึงมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไข่ไก่ตลอดทั้งปีเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปี 2557 มีแม่ไก่ยืนกรง จำนวน 51.26 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6 ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ขณะนี้ จำนวน 13,655 ล้านฟอง เฉลี่ย 37.41 ล้านฟอง/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1 และคาดว่าผลผลิตไข่ไก่จะมีจำนวนมากที่สุดประมาณปลายเดือนกันยายน-ตุลาคม 2557 โดยมากกว่า 39 ล้านฟอง/วัน อีกทั้งอยู่ในระหว่างโรงเรียนปิดภาคเรียนและเทศกาลกินเจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ราคาลดลงได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้เลี้ยงไก่ไข่ คณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบในหลักการ”แผนการรณรงค์เพื่อการบริโภคไข่ พ.ศ.2557-2561 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่จาก 200 ฟอง/คน/ปี ในปี 2555 เป็น 300 ฟอง/คน/ปี ในปี 2561 อีกทั้งเพิ่มผลผลิตไข่ไก่แปรรูป เพื่อทดแทนการนำเข้าและขยายตลาดส่งออกไข่ไก่และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี สำหรับแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.การรวบรวมความรู้เรื่องไข่ไก่ “Story of Eggs” 2.กิจกรรมส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ ตรงตามกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มสตรี 3. การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและมาตรฐานไข่ไก่ 4.การส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่และผลิตภัณฑ์และการส่งออก และ 5. การจัดกิจกรรมส่งเสริม เผยแพร่การบริโภคไข่ไก่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยระบายไขไก่ออกจากระบบไม่ให้เกิดการล้นตลาดแล้วยังเป็นการเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยให้สูงขึ้น ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย