กรุงเทพฯ--12 ส.ค.--สถาบันราชประชาสมาสัย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สืบสานพระราชปณิธานบูรณาการนิคมโรคเรื้อนโนนสมบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น สู่ชุมชนทั่วไป ทุ่มงบเตรียมความพร้อมนิคม จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกับ กรมธนารักษ์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์ และมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ
วันนี้ (8 สิงหาคม 2557) ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น นายแพทย์อาจินต์ ชลพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “การบูรณาการนิคมโรคเรื้อนสู่ชุมชนทั่วไป นิคมโนนสมบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น” ว่า การจัดสัมมนาในวันนี้เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระเมตตาห่วงใยพสกนิกรผู้ป่วยโรคเรื้อน ก่อให้เกิดโครงการควบคุมโรคเรื้อนแบบใหม่ที่มุ่งสำรวจค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาที่บ้านให้รวดเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ การดำเนินงานโรคเรื้อนได้ผลดีเป็นลำดับจนบรรลุเป้าหมายสามารถกำจัดโรคเรื้อนได้ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนลดน้อยลง แต่ยังมี ผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนทั้งทางด้านร่างกาย เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ป่วยบางส่วนอาศัยอยู่ในชุมชนปกติแต่บางส่วนอาศัยอยู่ในนิคมโรคเรื้อน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการปรับเปลี่ยนนิคมโรคเรื้อนให้เป็นชุมชนทั่วไป
นายแพทย์อาจินต์ กล่าวถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ว่า สำหรับนิคมโนนสมบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น มีหน่วยงานร่วมลงนามความร่วมมือ ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมธนารักษ์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์ และมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบูรณาการนิคมโรคเรื้อนโนนสมบูรณ์ให้เป็นชุมชนปกติในชื่อใหม่ คือ หมู่บ้านโนนสมบูรณ์ และหวังให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในนิคมโรคเรื้อนได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตามรอยนิคมที่บูรณาการสำเร็จแล้ว 2 แห่ง คือ นิคมปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2555 และนิคมดงทับจังหวัดจันทบุรี เมื่อปี 2556
ในการนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ย้ำความจำเป็นในการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เพื่อป้องกันความพิการ ลดการแพร่ติดต่อของโรคโดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ซึ่งมูลนิธิฯ จะมอบเงินสนับสนุนจำนวน 2,000 บาท ในกรณีที่ผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยตนเอง และในกรณีที่มีผู้พามา มูลนิธิฯ จะมอบเงินให้กับผู้นำผู้ป่วยมารักษา 1,000 บาท และมอบให้ผู้ป่วยอีก 1,000 บาท “ขอเชิญชวนประชาชนร่วมมือกันทำให้โรคเรื้อนหมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืนสมดังพระราชปณิธาน ด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยังไม่เคยได้รับการรักษารีบมารับการรักษา และขอให้ประชาชนสำรวจตนเอง คนในครอบครัว หรือในชุมชน อาการเริ่มแรกของโรคจะเป็นรอยโรคสีจางกว่าผิวหนังปกติ อาจพบขนร่วง เหงื่อไม่ออกบริเวณรอยโรค ที่สำคัญคือภายในรอยโรคเหล่านี้ จะมีอาการชา(หยิกไม่เจ็บ) สำหรับการรักษาผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเรื้อนสามารถขอรับการตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง”