ผู้ประกอบการเผยปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงผนวกกำลังซื้อช่วงไตรมาสสุดท้ายเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2005 11:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการเผยปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวลดลงผนวกกำลังซื้อช่วงไตรมาสสุดท้ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 48 ขยับสูงกว่า 100
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม2548 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 558 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 33 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 101.9 จาก 90.8 ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นมา และ ค่าดัชนีที่ได้เป็นค่าดัชนีในระดับที่เกิน 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาห-กรรมดีขึ้น ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากในช่วงเดือนตุลาคมที่มีการสำรวจ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกระลอกใหม่ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเท่าใดนัก ประกอบกับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลมีการปรับตัวลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการลดลง รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าในไตรมาสสุดท้ายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อบรรยากาศในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการในช่วงเดือนตุลาคม และเป็นผลให้ค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และ ปริมาณการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 106.4 107.0 และ 113.7 ในเดือนกันยายน เป็น 115.5 116.3 และ 123.5 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และ ผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 51.1 และ 99.1 ในเดือนกันยายน เป็น 69.3 และ 113.4 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาบรรยากาศการดำเนินกิจการใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า จากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกิจการเนื่องจาก ผู้ประกอบการต้องชำระหนี้เงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และทำให้การบริโภคสินค้าแบบผ่อนชำระของประชาชนลดลง สำหรับด้านของระดับของราคาน้ำมันที่มีผลต่อกิจการนั้น ผู้ประกอบการมีความคิดเห็นว่าในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า น่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งทบทวนเรื่องภาษีนำเข้าวัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ควบคู่กับคง มาตรการต่างๆ ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศและดึงดูดกำลังซื้อจากต่างชาติต่อไปอีกด้วย เช่น การรณรงค์การท่องเที่ยวในประเทศ จัดงานแสดงสินค้าเพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในแต่ละอุตสาหกรรม
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนตุลาคม 2548 ผลสำรวจพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 103.7 114.5 106.2 และ 116.6 ในเดือนกันยายน เป็น 111.1 115.9 114.9 และ 117.7 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ ส่วนดัชนีโดยรวมของการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต การลงทุนของกิจการ และ สินเชื่อในการประกอบการ เพิ่มขึ้นจาก 110.0 128.5 113.3 และ 107.9 ในเดือนกันยายน เป็น 115.6 138.3 118.0 และ 108.2 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ ในขณะที่ ดัชนีโดยรวมต่อสภาพคล่องของกิจการ และ ความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้นจาก 89.4 100.4 ในเดือนกันยายน เป็น 100.7 และ 105.4 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ดัชนีโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 135.7 122.2 และ 105.7 ในเดือนกันยายน เป็น 157.0 130.9 และ 120.6 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
ทั้งนี้ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงในเดือนตุลาคม 2548 ได้แก่ ค่าดัชนีราคาขาย และ สินค้าคงเหลือ ปรับตัวลดลงจาก 130.4 และ 116.8 ในเดือนกันยายน เป็น 125.4 และ 111.1 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุต-สาหกรรมฯ จำนวน 33 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนกันยายนกับเดือนตุลาคม 2548 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 90.0 เป็น 111.0 อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 40.5 เป็น 82.0 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 61.9 เป็น 91.8 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 85.9 เป็น 114.9 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 58.9 เป็น 119.0 อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 91.1 เป็น 108.9 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้นจาก 56.7 เป็น 100.3 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มชึ้นจาก 51.5 เป็น 107.5 อุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นจาก 53.9 เป็น 121.4 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นจาก 87.0 เป็น 125.1 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 97.5 เป็น 118.1 อุตสาหกรรมยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 72.3 เป็น 122.2 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เพิ่มขึ้นจาก 82.0 เป็น 106.2 อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 65.0 เป็น 88.8 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 47.8 เป็น 110.2 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นจาก 85.8 เป็น 116.9 อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 78.2 เป็น 123.6 และ อุตสาหกรรมน้ำตาล เพิ่มขึ้นจาก 70.1 เป็น 84.5 ตามลำดับ ในทางกลับกันมี 9 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 115.4 เป็น 98.2 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 107.9 เป็น 97.5 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 139.3 เป็น 106.7 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ลดลงจาก 105.8 เป็น 87.4 อุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลงจาก 105.1 เป็น 83.3 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 131.2 เป็น 107.9 อุตสาหกรรมอาหาร ลดลงจาก 118.3 เป็น 94.0 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงจาก 118.9 เป็น 94.0 และหัตถอุตสาหกรรม ลดลงจาก 175.0 เป็น 87.8 ตามลำดับ
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 91.6 95.5 และ 88.4 ในเดือนกันยายน เป็น 96.3 102.2 และ 109.6 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ โดยค่าดัชนีของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งสองขนาดมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ อุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ดี ทั้งนี้ เนื่องมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลงในเดือนตุลาคม และแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 91.1 84.6 80.8 113.3 และ 84.0 ในเดือนกันยายน เป็น 97.6 100.7 100.6 117.9 และ105.3 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1296-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ