กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึง ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์ถึงความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อพฤติกรรมของเด็กพิเศษ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้โอกาสและการส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการสมวัยตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ รวมทั้งทารกที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านต่างๆ ก็ควรได้รับการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กควบคู่กันไปในทุกๆราย เพราะ การคัดกรองจะช่วยให้แม่หรือผู้เลี้ยงดูรู้เท่าทันปัญหาที่กำลังเป็นอุปสรรคในการเติบโตของเด็ก สามารถวางเป้าหมายในการช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย อีกทั้งยังมีโอกาสได้ดูแล "สภาพจิตใจ" และทักษะทางสังคมต่างๆของเด็กซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้ หากคัดกรองเร็ว ก็ยิ่งเจอเร็ว ช่วยได้เร็ว และช่วยได้ถูกทาง แต่ถ้าเจอช้า และเด็กเติบโตโดยปราศจากการส่งเสริมพัฒนาการอย่างทันท่วงทีแล้ว เด็กจะมีปัญหาอื่นตามมาได้ เช่น เกิดความเครียด แยกตัว ซึมเศร้าหรือมีปัญหาพฤติกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นได้ง่าย เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวใช้ชีวิตในครอบครัวหรือสังคมได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการยังมีน้อย ปี 2555 คาดการณ์มีเด็กบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 642,664 ราย แต่มีการเข้าถึงบริการเพียง 40,151 ราย คิดเป็นอัตราการเข้าถึงบริการ เท่ากับ 6.25 ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยออทิสติกได้มีการคาดการณ์ ว่ามีจำนวน 57,840 ราย แต่พบว่า มีการเข้าถึงบริการ 25,420 ราย คิดเป็นอัตราการเข้าถึงบริการ เท่ากับ 43.95 เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายวางระบบมาตรฐานการดูแลและเข้าถึงบริการของแม่หรือหญิงตั้งครรภ์และบุตร เช่น การฝากครรภ์คุณภาพ ครบ 5 ครั้ง ประเมินความเสี่ยงของแม่ในโรคพันธุกรรม ประเมินความพร้อมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่ง ในรายที่สงสัยพัฒนาการล่าช้าจะได้รับการแก้ไขกระตุ้นพัฒนาการต่อไป ฯลฯ ทั้งนี้ จากผลวิจัยการติดตามสภาวการณ์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กในโครงการรณรงค์ส่งเสริมพัฒนาการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี โดย นักวิชาการ สถาบันราชานุกุล ที่ติดตามประเมินพัฒนาการเด็กที่เกิดในปี พ.ศ.2553 ภายใต้โครงการรณรงค์ส่งเสริมพัฒนาการเฉลิมพระเกียรติ 80พรรษามหาราชินี ปี 2555 จำนวน 1,159 คน พบว่า เด็กที่มารับการตรวจประเมินฯ ส่วนใหญ่ มีพัฒนาการก้าวหน้าสมวัย คิดเป็น ร้อยละ80.5 และไม่ก้าวหน้าหรือสงสัยพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 19.5 โดยในเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้า พบว่า มีพัฒนาการก้าวหน้าหรือกลับมาสมวัยและมีพัฒนาการดีขึ้นจากเดิม ร้อยละ 29.6 ขณะที่มีเด็กยังคงสงสัยพัฒนาการล่าช้าอยู่ ร้อยละ 70.4 และจากการศึกษายังพบว่า เด็กที่สงสัยล่าช้าที่ได้รับการดูแลและกระตุ้นมีเพียงร้อยละ 80 อีกร้อยละ 20 ยังไม่ได้รับการกระตุ้น นอกจากนี้ เด็กที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด มีโอกาสพัฒนาการไม่ก้าวหน้าสูงกว่าเด็กที่มีอายุครรภ์ครบกำหนด เด็กที่คลอดผิดปกติมีโอกาสพัฒนาการไม่ก้าวหน้าสูงกว่าเด็กที่คลอดปกติถึง 20.3 เท่า เด็กที่มีปัญหาช่วงแรกคลอดมีโอกาสพัฒนาการไม่ก้าวหน้าสูงกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหาช่วงแรกคลอดถึง 42.2 เท่า และ เด็กที่มีผู้ดูแลหลักไม่ใช่บิดา มารดา มีโอกาสพัฒนาการไม่ก้าวหน้าสูงกว่าเด็กที่มีผู้ดูแลหลักเป็นบิดามารดาถึง 124.2 เท่า “การค้นหาช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงและการดูแลส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระยะแรกอย่างเป็นระบบจึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น หากตรวจพบเร็ว ก็จะช่วยได้เร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลของแม่ที่ต้องดูแลลูกอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว