กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว
“สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ หรือ OTOP PLUS” พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร
นายชาวัลย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP โครงการยกระดับผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แบบบูรณาการ (OTOP PLUS) พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ณ ห้างแพตตินั่ม บ้านเกาะ จังหวัดนครราชสีมา โดยมอบความไว้วางใจให้ สถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมทัศน์ จิระเดชะ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ดูแลดำเนินงานโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ได้กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร จำนวน 52 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1)อาหาร 2)เครื่องดื่ม 3)ผ้า/เครื่องแต่งกาย 4)ของใช้ ของประดับ และขอตกแต่ง 5)สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างจิตสำนึกความเป็นผู้ประกอบการบนพื้นฐานองค์ความรู้และการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพกลไกและปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริม OTOP ผ่านกระบวนการ อบรม สัมมนา วินิจฉัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่มีประโยชน์ใช้สอยที่ต่างจากผลิตภัณฑ์เดิม หรือบรรจุภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม หรือการเพิ่มคุณภาพการผลิต เป็นต้น
กรอปกับ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอและทดลองวางขายสินค้ารูปแบบใหม่ ในพื้นที่ต่างถิ่น ซึ่ง มศว จัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 สิงหาคม 2557 ณ ห้างแพลตตินัม ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ และยังจัดให้มีพื้นที่เจรจาธุรกิจ เชิญผู้ซื้อทั้งในหรือต่างประเทศ เข้าร่วมงาน เยี่ยมชมและเจรจาธุรกิจ โดยคาดหวังว่า ผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 52 ผลิตภัณฑ์ ที่เข้าร่วมโครงการกับเราจะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ มีความสามารถในการประกอบการมากขึ้นโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม รวมถึงเพิ่มมูลค่าจำหน่ายได้มากถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบจากมูลค่าผลิตภัณฑ์เดิม