กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
จากวิกฤติแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและอาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน วัด บ้านเรือนกว่า 10,000 หลัง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.)ได้ริเริ่มโครงการจิตอาสา วสท.รวมใจไทย...กู้ภัยแผ่นดินไหว โดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อุปนายก วสท. และผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.เชียงราย ดร.ธเนศ วีระศิริ ผู้จัดการศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว จ.เชียงราย ร่วมกับ สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย นำผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทุกสาขาและวิศวกรอาสา ได้จัดสัมมนา เรื่อง “การซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย” จัด คลินิกช่างให้คำปรึกษาและแนะนำการซ่อมแก้ไขอาคาร รวมทั้งแจกคู่มือด้านวิชาการด้วย ณ ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย โดยมีประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน วิศวกรท้องถิ่น ผู้รับเหมา ช่างก่อสร้างและชุมชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในที่อยู่อาศัยของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว โดยให้ความรู้ความเข้าใจในรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลัง กรณีศึกษาการแยกของดินที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว และการเฝ้าระวัง การตรวจสอบอาคารกรณีได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แนะนำวิธีแก้ไขอาคารกรณีได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมตัวอย่างแนวทางการออกแบบอาคารในอนาคตสำหรับพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว
จะเห็นได้ว่าวิกฤตการณ์พิบัติภัยที่เกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกนั้นชัดเจนมากขึ้นกว่าในอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในบริเวณอินโดไชน่าที่พบปัญหาพิบัติภัยน้อยที่สุด แต่ในระยะ 20 ปีมานี้ พิบัติภัยเกือบทุกอย่างนั้นเพิ่มขึ้นมาก เช่น พิบัติภัยที่จากแผ่นดินถล่มมากขึ้นกว่า 10 เท่า หรือพิบัติภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่าเกือบร้อยละ 30% เจอปัญหาการเซาะชายฝั่ง และมากที่สุดที่ประสบภัยพิบัติคือการเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง 6.3 แมกนิจูด ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี เราจึงควรสนใจศึกษาความรู้และการปฎิบัติเกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหว