กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll)ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชนเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องฐานสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ หัวหน้า คสช. และการทำงานของ คสช.
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง ฐานสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ หัวหน้า คสช. และการทำงานของ คสช. กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 601 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 - 9 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.2 ติดตามรับชมรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 19.8 ไม่ได้ติดตามชม และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 ระบุปัญหาแตกแยกทางการเมืองของคนในชุมชนมีค่อนข้างน้อยถึงไม่มีปัญหาเลย ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.7 ระบุมีปัญหาค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของ คสช. ด้านสังคม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับแรกได้แก่ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ 9.54 คะแนน รองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ การเตรียมการจัดกิจกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ได้ 9.31 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่ การเข้มงวดจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด การพนัน การบุกรุกป่าไม้ ได้ 9.06 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การปราบปรามจับกุมอาวุธสงคราม ได้ 8.99 คะแนน อันดับ 5 ได้แก่ การส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 8.75 คะแนน และรองๆ ลงไปได้แก่ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ การตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ และการส่งเสริมค่านิยมหลัก 12 ประการ เช่น มีวินัย มีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นต้น
ในด้านการเมือง ผลสำรวจพบว่า ความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการปฏิบัติงานของ คสช. อันดับแรก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการ ได้ 8.58 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ การใช้อำนาจ คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ 8.57 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่ การยอมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของ คสช. ได้ 8.49 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การบริหารประเทศโดย คสช. ได้ 8.27 คะแนน อันดับ 5 ได้แก่ การเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้ 8.20 คะแนน และรองๆ ลงไปคือ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสิงคโปร์และกัมพูชา การลดความกดดันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การลงนามความร่วมมือของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง กับจีนและเกาหลี และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการประชาชนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า อันดับแรก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านอาชีพ รายได้และความเป็นอยู่ได้ 8.16 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ การแก้ปัญหาเรื่อง ข้าว ได้ 8.10 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่การรักษาวินัยการเงินการคลัง ได้ 8.07 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ 8.06 คะแนน อันดับ 5 ได้แก่ การวางแผนการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ 7.95 คะแนน และรองๆ ลงไป ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการส่งออกและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม การกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับประเทศจีน การลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร และ การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น
ที่น่าพิจารณา คือ คะแนนความพึงพอใจโดยภาพรวมของแกนนำชุมชนต่อการทำงานที่ผ่านมาของ คสช. พบว่า ด้านสังคม ได้ 8.55 คะแนน ด้านการเมือง ได้ 8.18 คะแนน และด้านเศรษฐกิจได้ 7.91 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนนและที่น่าสนใจคือ การสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.3 สนับสนุนค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด