กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
บทความ
หน้าฝนนี้อย่ามองข้าม...โรคไข้หวัด
โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ในช่วงนี้มีหลายโรคที่แพร่ระบาดจนต้องมีการออกมารณรงค์ แต่โรคที่ไม่ควรมองข้ามอีกหนึ่งโรคก็คือ “โรคไข้หวัด” โดยเฉพาะช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝนเช่นนี้ มักจะพบเด็กเจ็บป่วยเป็นไข้หวัดกันมาก ยิ่งท่านที่มีลูกหลานเล็กๆ เพิ่งเข้าเรียนหนังสือเป็นปีแรกด้วยแล้ว คงรู้สึกกังวลใจไม่น้อยที่เด็กๆติด “เชื้อหวัด”จากเพื่อนในห้องเรียน จนต้องขาดเรียนบ่อยๆไม่เว้นแต่ละเดือน เพราะไข้หวัด ติดต่อกันง่าย ทางจมูกและคอเพียงแค่อยู่ใกล้ชิดกัน และรับเชื้อละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม หายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส แล้วมาขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โรคไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของคนเรา การที่เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ป่วยเป็น ไข้หวัด ก็เพราะได้รับเชื้อโรคที่เป็นไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งจากที่มีสายพันธุ์ย่อยๆมากกว่า 100ชนิดเมื่อหายจากไข้หวัดแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้นขึ้นมา แต่เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆเช่นนี้ จึงทำให้คนเราเป็นไข้หวัดกันได้ปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กมักจะมีโอกาสเป็นไข้หวัดกันได้บ่อยๆ และมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดน้อยกว่าผู้ใหญ่ นั่นเอง เชื้อไข้หวัดสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นคือ จมูกและคอเพียงแค่อยู่ใกล้ชิดกัน และรับเชื้อละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ จาม หายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดมือแล้วไปสัมผัสผู้อื่น เชื้อหวัดก็จะติดคนๆ นั้น หากไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้โดยเฉพาะในเด็กที่มักชอบเล่นคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิดจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดได้ง่าย สำหรับอาการของไข้หวัด หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการและที่เห็นชัดเจนแตกต่างจากไข้อื่นๆ ก็คือ ต้องมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลอาจมี ไอ เจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เด็กยังวิ่งเล่นหรือ ผู้ใหญ่ทำงานได้ ในเด็กอาจมีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆประมาณ 4-5วัน แต่อาการไข้จะไม่ขึ้นสูงตลอดทั้งวันทั้งคืน เมื่อรับประทานยาลดไข้แล้ว อาการมักจะดีขึ้นภายใน 3-4วัน อย่างมากก็ไม่เกิน 7 วัน แต่หากมีอาการปวดหู หูอื้อ ปวดศีรษะมาก มีอาการหอบเหนื่อย น้ำมูกหรือเสมหะเหลืองเขียว ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป การรักษาไข้หวัดไม่จำเป็นจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่ได้ช่วยกำจัดเชื้อไวรัสทุกชนิดได้ แต่ให้รักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการไข้ก็ให้รับประทานยาลดไข้ เป็นต้นพร้อมกับดูแลตัวเองหรือบุตรหลานโดยการพักผ่อนให้มากขึ้น ไม่อาบน้ำเย็น ห้ามดื่มน้ำเย็นหรือรับประทานน้ำแข็ง ควรดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นเสมอกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ชี้แนวทางการป้องกันไข้หวัดสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารให้ครบหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอและต้องพยายามไม่ไปอยู่ใกล้คนที่เป็นไข้หวัดนอกจากนั้น ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด ซึ่งมักจะเกิดในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ฤดูฝน ฤดูหนาว ไม่ควรเข้าไปในสถานที่ๆ มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ส่วนคนที่เป็นหวัด เวลาไอหรือจาม ก็ควรปิดปากหรือใส่ผ้าปิดปาก เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปยังบุคคลอื่น และควรอยู่ให้ห่างไกลจากผู้อื่น หรือไม่นอนรวมกับผู้อื่น แต่ทางที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด ก็คือ การใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ.