กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--คอร์แอนด์พีค
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยเทคนิดทางการแพทย์สมัยใหม่ “การปลูกถ่ายเซลล์สีผิว” เพื่อรักษาโรคด่างขาว โดยการนำผิวหนังบริเวณที่มีสีผิวปกติมาผ่านกระบวนการสกัดแยกเซลล์ในห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพื่อสกัดเอาเฉพาะเซลล์สีผิว ก่อนนำไปปลูกถ่ายลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นด่างขาว
ผศ. นพ. วาสนภ วชิรมน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง อาจารย์ประจำ หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยสาราณียกร สมาคมแพย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ในการรักษาโรคด่างขาว ซึ่งเป็นโรคที่เซลล์สีผิวของร่างกายถูกทำลายโดยไม่ทราบสาเหตุ อุบัติการของโรคนี้พบในคนไทยไม่ถึง 1% อาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยจะสังเกตได้คือ รอยโรคจะปรากฏเอง เกิดวงสีขาวแบบจาง ๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเกลื้อนหรือเปล่า แต่จะไม่มีอาการเจ็บหรือคันร่วมด้วย เมื่อเป็นนานเข้าจะเห็นเป็นสีขาว ขอบชัดเจน มีรูปร่างกลมหรือรี หรือเป็นทางยาวตามแนวของเส้นประสาท พบได้บ่อยที่ใบหน้า รอบตา ปาก คอ รักแร้ ศอก เข่า มือ เท้า และผิวหนังเหนือข้อ รอยดังกล่าวมีขนาดตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ถึงขนาดใหญ่ปกคลุมได้เกือบทั่วตัว
โรคด่างขาวนั้น สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ “แบบเป็นเฉพาะที่” กับ “แบบเป็นทั่วตัว” ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เป็นว่ามากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังสามารถพบโรคของต่อมไทรอยด์ร่วมกับโรคด่างขาวได้ด้วย โดยมีรายงานว่าอาจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้สูงถึงร้อยละ 20 ของผู้ที่เป็นด่างขาว บางรายอาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์มาก่อนที่จะเป็นด่างขาว แต่บางรายก็พบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หลังจากที่เป็นด่างขาวแล้ว นอกจากนี้โรคด่างขาวยังอาจจะเกิดขึ้นจากพันธุกรรมได้ด้วย พบว่าถ้าพ่อแม่เป็นโอกาสที่ลูกจะเป็นก็มีมากขึ้น
คำแนะนำเบื้องต้น หากตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดเริ่มมีวงสีขาวแบบจาง ๆ ขึ้นตามร่างกาย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจดูลักษณะของรอยโรค ซึ่งอาจจะมีบางจุดที่คนไข้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์ก็จะใช้ไฟทางการแพทย์ส่องดู หากพบ จะได้รักษาอาการของโรคได้เร็วขึ้น ซึ่งการรักษาโรคด่างขาวในปัจจุบัน แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยเป็นมากหรือน้อย ถ้าเป็นน้อย แพทย์จะรักษาโดยการให้ทายาเพียงอย่างเดียว ในบางรายที่เป็นมากจะใช้การฉายแสงอัลตราไวโอเลตร่วมด้วย ซึ่งแสงอัลตราไวโอเลตที่ใช้เป็นแสงบริสุทธิ์ ไม่ใช่แสงแดดทั่วไป แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ ต้องฉายแสงอย่างต่อเนื่อง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งพบว่าถ้ารักษาร่วมกันระหว่างการทายาและฉายแสง จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการทายาเพียงอย่างเดียว
ในอดีตผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาและการฉายแสง จะรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายชิ้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการนำผิวหนังบริเวณที่มีสีผิวปกติจากบริเวณหลังและก้น มาปลูกถ่ายลงบนผิวหนังที่เป็นด่างขาว โดยเทคนิคดั้งเดิมนี้ คือ การนำผิวหนังที่มีสีผิวปกติมา 1 ส่วน เพื่อปลูกถ่ายลงบนผิวหนังที่เป็นด่างขาวในอัตราส่วนที่เท่ากัน คือ 1 ส่วน เหมือนการปะผ้าที่ขาด เช่น บริเวณที่เป็นด่างขาวมีขนาด 3 ตารางเซนติเมตร ก็ต้องนำผิวหนังบริเวณที่มีสีผิวปกติขนาด 3 ตารางเซนติเมตร มาทำการปลูกถ่าย ดังนั้นข้อจำกัด คือ ไม่สามารถทำได้ในกรณีที่รอยโรคเป็นมาก เพราะจะต้องใช้ผิวหนังที่มีสีผิวปกติในบริเวณกว้าง
ผศ. นพ. วาสนภ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีเทคนิคใหม่ในการรักษาโรคด่างขาว โดยจะใช้วิธีการปลูกถ่ายเฉพาะเซลล์สีผิว หลักการ คือ การนำผิวหนังบริเวณที่มีสีผิวปกติมาผ่านกระบวนการสกัดแยกเซลล์ในห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพื่อสกัดเอาเฉพาะเซลล์สีผิว หลังจากนั้นเซลล์สีผิวจะถูกเตรียมให้อยู่ในรูปสารเหลว เพื่อนำไปปลูกถ่ายลงบนผิวหนังบริเวณที่เป็นด่างขาว โดยทำการลอกผิวหนังบริเวณที่เป็นด่างขาวออกไปก่อนการปลูกถ่าย ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถนำไปรักษารอยโรคบริเวณที่กว้างได้มากกว่าการปลูกถ่ายชิ้นผิวหนังแบบดั้งเดิม แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมและมีห้องปฏิบัติการเพื่อสกัดแยกเซลล์ ด้วยวิธีนี้สีผิวจะกลับมาเป็นสีปกติในระยะเวลา 6-12 เดือน จึงจัดเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคด่างขาวโดยเฉพาะด่างขาวที่ไม่ตอบสนองกับการใช้ยาทาและการฉายอัลตราไวเอเลต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคดังกล่าวไปรักษาโรคที่เป็นรอยขาวบางชนิดได้ด้วย เช่น ปานขาว รอยขาวจากผิวหนังที่โดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รวมทั้งรอยที่เกิดจากอุบัติเหตุ
การปลูกถ่ายเซลล์สีผิวนจัดเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่อันตราย เมื่อเทียบกับวิธีก่อนๆ และยังพบว่าจะได้สีผิวที่กลมกลืนและสีผิวจะเสมอกว่าหรือเกือบจะเหมือนกับสีผิวปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-10 เดือน แต่วิธีนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ คือ สถานที่ที่ทำการรักษาต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมและมีห้องปฏิบัติการเพื่อสกัดแยกเซลล์ ฉะนั้นผู้ป่วยต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนว่า สถานพยาบาลใดที่พร้อมและมีความเชี่ยวชาญเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
ถึงแม้โรคด่างขาวจะไม่ใช่โรคติดต่อและไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ที่เป็นมีความทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ และอาจมีปัญหาในการเข้าสังคมได้ วิธีการปลูกถ่ายเซลล์สีผิว จึงจัดเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคด่างขาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวที่ไม่ตอบสนองกับการใช้ยาทาและการฉายแสง