กรุงเทพ--16 ม.ค.--กรมสรรพากร
มิติใหม่ในวงราชการไทยจาก 3 หน่วยงาน อันได้แก่ กรมสรรพากร กรมการปกครอง และสำนักงานประกันสังคมที่ได้ตกลงร่วมกันเชื่อมข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ซึ่งหากการเชื่อมข้อมูลดังกล่าวสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ กรมสรรพากรก็คงจะได้ยิ้มรับกับประโยชน์ที่จะได้จากฐานข้อมูลเหล่านั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดศักภาพในการขยายฐานภาษีได้อีกมากมาย ทั้งยังช่วยรัฐบาล ประหยัดงบประมาณ และใช้บุคลากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางไพฑูรย์ พงษ์เกษา เลขานุการกรม ในฐานโฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากร กรมการปกครอง และสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับระบบวงราชการไทย ด้วยการร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร และสืบเนื่องจากการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวเข้าด้วยกัน กรมสรรพากรได้พิจารณาแนวทางที่จะดำเนินการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการมีบัตรและมีเลขประจำตัวประเภทต่าง ๆ ลง คือจะใช้บัตรประจำตัวประชาชนระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเลขประจำตัวจำนวน 13 หลัก เป็นบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรสำหรับผู้เสืยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งในปัจจุบันบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรมีเลขประจำตัวจำนวน 10 หลัก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการพกพาบัตรต่าง ๆ ของทางราชการ ตลอดจนลดความซ้ำซ้อนของเลขประจำตัวประเภทต่าง ๆ ลงในบัตรเพียงใบเดียว และเป็นการประหยัดงบประมาณในการออกบัตรที่ต้องใช้ในราชการให้น้อยลงไปอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทั้งสามหน่วยงานดังกล่าวกำลังศึกษาและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่จะเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และจะเริ่มใช้บัตรหรือข้อมูลร่วมกันเมื่อแต่ละหน่วยงานมีความพร้อม ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของแต่ละหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นกรประหยัดงบประมาณและสามารถใช้บุคลากรทางด้านเทคนิคให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการอีกด้วย
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวต่อไปว่า "นอกจากนี้กรมสรรพากรยังได้รับประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติในด้านความถูกต้องและเป็นปัจจุบันทั้งในเรื่องจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงชื่อ-ชื่อสกุล การแจ้งย้ายเข้า-ออกจากภูมิลำเนา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวล้วนเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและบริหารฐานข้อมูล รวมทั้งการวางแผนการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้ทันต่อสภาวะการณ์ของสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว--จบ--