ปพม. ร่วมพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาสังคมของ ESCAP ครั้งที่ ๓

ข่าวทั่วไป Monday August 18, 2014 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--พม. วันนี้ (๑๘ ส.ค. ๕๗) เวลา ๐๙.๓๐ น. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคำปราศรัยในนามรัฐบาลไทย ภายใต้หัวข้อ“ความเท่าเทียมกันทางเพศและเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง” ในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาสังคมของ ESCAP ครั้งที่ ๓ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ ๓ ของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ด้านการพัฒนาสังคม ในนามรัฐบาลไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันที่ปรากฏมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสมาชิกของสังคมที่เป็นผู้ด้อยทางโอกาสและสิทธิ รวมทั้งทุกคนในสังคม เพราะความไม่เท่าเทียมกันเป็นอุปสรรคหนึ่งในการบรรลุผลสำเร็จของ Millennium Development Goal - MDGs (เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ) รวมถึงการไม่ได้รับผลประโยชน์จากความมั่งคั่งและความมั่นคงของส่วนรวม ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่มีความกระตือรือร้นของ ESCAP และเป็นผู้สนับสนุนที่แสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา โดยจะดำเนินงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกัน นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมุ่งเน้นการลงทุนด้านการพัฒนาสังคมให้ประสบความสำเร็จโดยการบริการการดูแลสุขภาพอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับหลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งประเทศไทยยังมีความพยายามที่จะลดความอคติทางเพศ ซึ่งเป็นสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและการกำจัดทัศนคติการเหมารวม สำหรับการสร้างมาตรการในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรี ในปี ๒๕๕๕ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสตรีแห่งชาติ เพื่อให้สตรีมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในกิจการด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญของการเสริมพลังสตรี โดยมีการแทรกแซงผ่านนโยบายและกลไกอื่นๆ เพื่อให้เห็นถึงคุณค่าของความเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) มีความกระตือรือร้นในการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี “การประชุมครั้งนี้ เป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้น เพื่อที่จะกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำเร็จทั้งในระดับประเทศ อนุภูมิภาค และภูมิภาค โดยข้อเสนอต่างๆและผลการประชุมในครั้งนี้จะนำไปพัฒนาวาระด้านการพัฒนาสังคมของ ESCAP ในอีก ๒ ปีข้างหน้า และ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม “Asian and Pacific Conference on Gender Equality and Women's Empowerment: Beijing+20 Review” ซึ่งเป็นการประชุมเอเชียและแปซิฟิกด้านความเสมอภาคหญิงชายและการเสริมพลังสตรี ที่กำหนดจัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ นี้” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ