ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2005 10:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน (“SCNB”) โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวเพิ่มเป็น ‘A-’ (A ลบ) จากเดิม ‘BBB+’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเพิ่มเป็น ‘C’ จาก ‘C/D’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนเพิ่มเป็น ‘1’ จาก ‘2’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารที่ ‘F2’ นอกจากนี้ ฟิทช์ได้ประกาศอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘A-’ (A ลบ) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มของอันดับเครดิตทั้งหมดมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ SCNB มีพื้นฐานมาจากการที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแห่งอังกฤษ (“SC” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศที่ ‘A+’/‘F1’) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในสัดส่วนการถือหุ้นของ SC ใน SCNB รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนที่มีต่อ SCNB ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCNB เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCNB ในขณะนี้ ถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศ การเปลี่ยนแปลงใดๆของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ (ซึ่งอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทยอยู่ 1 อันดับ) จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCNB
SC แห่งอังกฤษ ได้ชี้แจงว่า SCNB จะร่วมเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายของธนาคารในภูมิภาคเอเชียซึ่งประกอบด้วยธนาคารต่างๆซึ่งก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลานานทั้งในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินเดีย และมาเลเซีย SC มีความตั้งใจที่จะถือหุ้นในเชิงกลยุทธ์ใน SC ในระยะยาว รวมถึงการมีอำนาจควบคุมการบริหารธนาคารในคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCNB ธนาคารจะทำการเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ในเร็วๆนี้ เพื่อให้ธนาคารมีชื่อที่สอดคล้องมากขึ้นกับบริษัทแม่ ในเดือนมีนาคม 2548 SC ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน SCNB เป็น 99.97% (ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้ลดลงเล็กน้อยเป็น 99.73% ในปัจจุบัน) SC ยังอยู่ในระหว่างการควบรวมการปฏิบัติงานของสาขากรุงเทพของธนาคารเข้ากับ SCNB ซึ่งคาดว่าการควบรวมดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2548 โดยจะมีสินทรัพย์รวมกันแล้วทั้งสิ้นจำนวน 139 พันล้านบาท ในขณะที่ข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติอาจจะจำกัด SC ในการเพิ่มเงินลงทุนใน SCNB หลังจากปี 2552 แต่ SC ยังคงมีความยืดหยุ่นที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานเงินทุนของ SCNB ก่อนปี 2552 ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะจำกัดผลกระทบจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCNB ของ SC ให้น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง SC ในกรณีที่มีความจำเป็น
ในปี 2547 SCNB รายงานผลกำไรสุทธิที่ 763.8 ล้านบาท หลังจากการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวน 1.15 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 720 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ในครึ่งปีแรกของปี 2548 ผลกำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 760.3 ล้านบาท จาก 444.6 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2547 ผลการดำเนินงานหลักที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงการเติบโตของการให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งขึ้นและรายได้จากค่าธรรมเนียมและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้น
สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืม (LMA) ระหว่าง SCNB และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (“FIDF”) ได้สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2547 ซึ่งการจัดการสินทรัพย์ภายใต้ LMA ได้สิ้นสุดลงโดยได้คาดการณ์ว่าจะไม่มีผลขาดทุนอันเป็นภาระของธนาคารในอนาคต ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งไม่รวมสินเชื่อภายใต้สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืมของ SCNB ที่ 1.7 พันล้านบาท (4.2% ของสินเชื่อซึ่งไม่รวมสินเชื่อภายใต้สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืม) ในขณะที่ระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาท โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญดังกล่าวเท่ากับ 70.9% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งไม่รวมสินเชื่อภายใต้สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืมทั้งหมด ในขณะที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงและการควบรวมกิจการของ SC สาขากรุงเทพ เข้ากับธนาคารอาจส่งผลให้ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCNB เพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% ในครึ่งปีหลังของปี 2548 ระดับการกันสำรองหนี้สูญของ SCNB ก็คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นไปที่ระดับสูงกว่า 100% เนื่องมาจากระดับการกันสำรองหนี้สูญที่แข็งแกร่งกว่าของ SC สาขากรุงเทพ และหลังจากเงินสำรองหนี้สูญบางส่วนที่ใช้สำรองหนี้สูญภายใต้สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืมได้ถูกโอนย้ายไปเป็นเงินสำรองหนี้สูญสำหรับสินเชื่อที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาจัดการเงินให้กู้ยืม
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 เงินกองทุนทั้งหมดของ SCNB อยู่ที่ระดับ 10.8% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 9.8% หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง SC สาขากรุงเทพ และ SCNB ได้เสร็จสิ้น และหลังจากการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมจำนวน 6.1 พันล้านบาท จาก SC อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ SCNB น่าจะลดลงเล็กน้อยเป็น 9.2% และอัตราเงินกองทุนทั้งหมดลดลงเป็น 9.6% แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพน่าจะช่วยให้อัตราเงินกองทุนยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall,ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ