กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--โฟร์ฮันเดรท
ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย เผยประกาศผลประกอบไตรมาส 2 ปี 57 เท่ากับ 412.16 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 343.78 ล้านบาท หรือ 45.48 % สาเหตุจากการเลื่อนการรับมอบของลูกค้าโครงการที่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง และการเลื่อนการประมูลงานภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เตรียมปรับเป้าปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 2,630 ล้านบาท แต่ยังโต กว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริหารเผยเตรียมเร่งสปีดงานครึ่งปีหลังคาดโกยเพิ่มอีก 1,800 ล้านบาท และเร่ง Bids ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงส่งออกมูลค่ารวมกว่า 8,100 ล้านบาท แย้มอาจจะได้ 20-25 % พร้อมแย้มปีหน้าสดใสแน่หลังตุน Backlog ในมือแล้วมากกว่า 2,282 ล้านบาท
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวมเท่ากับ 412.16 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 343.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.48 เนื่องจากการเลื่อนการรับมอบของลูกค้าโครงการที่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง และการเลื่อนการประมูลงานภาครัฐเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 18.74 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 50.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 158.67
และมีอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับการขายร้อยละ 16.67 ลดลงจากอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับการขายงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 19.93 คิดเป็นร้อยละ 16.36 เนื่องจากรายได้ที่ส่งมอบในไตรมาสนี้มีปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและเป็นรายการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวม 97.79 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นเงิน 6.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.80 เนื่องจากการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.17 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินการด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณภาพ และมีต้นทุนทางการเงินเท่ากับ 10.50 ล้านบาท ลดลง 1.32 ล้านบาท จากงวด เดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของสินเชื่อหมุนเวียนเนื่องจากมีสภาพคล่องสูง
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้รายได้บริษัทฯ ที่ลดลงมีปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้โครงการของลูกค้าต้องเลื่อนการรับมอบสินค้า ซึ่งเป็นกรณีปกติของโครงการขนาดใหญ่
บริษัทฯ จึงได้ประเมินสถานการณ์รายได้รวมของปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 2,630 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3-4 บริษัทฯ ต้องเร่งกำลังการผลิต และส่งมอบงาน โดยคาดว่าจะมีรายได้อีกกว่า 1,800 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) แล้วมูลค่ามากกว่า 2,200 ล้านบาทอีกด้วย
“และขณะนี้บริษัทฯ ยังเดินหน้าเข้าร่วมประมูลอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ากว่า 8,100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง 2,400 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 100 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,700 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 1,300 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อยอีก 600 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25%” นายสัมพันธ์ กล่าวสรุปในตอนท้าย