กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนสตรีตั้งครรภ์ที่ขับรถด้วยตนเองเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ปรับเบาะนั่งให้เหมาะสม คาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธี เพื่อปกป้องครรภ์มิให้เกิดภาวะแท้งกรณีประสบอุบัติเหตุ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สังคมปัจจุบันที่เป็นไปด้วยความเร่งรีบ ทำให้สตรีขับรถด้วยตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อความคล่องตัวในการขับรถ และหากประสบอุบัติเหตุจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและเด็กในครรภ์ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีขับขี่และโดยสารรถอย่างปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์ ดังนี้ ควรปรับเบาะนั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยท้องต้องอยู่ห่างจากพวงมาลัยหรือคอนโซลหน้ารถประมาณ 12 นิ้ว ไม่ปรับเบาะให้อยู่ในท่านอนหรือเอนเกินไป หากครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้นควรปรับที่นั่งให้ห่างออกไปในระยะที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบังคับพวงมาลัย และเท้าสามารถเหยียบแป้นเบรกและคันเร่งได้ถนัด รวมถึงคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่ขับขี่และโดยสารรถ เพื่อลดแรงกระแทกและฉุดรั้งไม่ให้ร่างกายพุ่งไปด้านหน้ากรณีประสบอุบัติเหตุ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยคาดส่วนล่างให้พาดผ่านหน้าตัก ห้ามคาดเข็มขัดนิรภัยผ่านหน้าท้องหรือบริเวณที่สูงกว่า เพราะหากประสบอุบัติเหตุจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ให้ใช้หมอนใบเล็กรองที่หน้าท้องส่วนล่างก่อนคาดเข็มขัดนิรภัย จะช่วยลดแรงกระแทกขณะขับรถ รวมถึงจัดสายเข็มขัดนิรภัยไม่ให้พลิก บิด งอหรือหย่อนยาน รวมถึงคาดให้เข็มขัดส่วนไหล่พาดหน้าอก ห้ามพาดไว้ด้านหลัง เพราะหากประสบอุบัติเหตุ เข็มขัดนิรภัยจะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งลำตัว ทำให้กระตุกจนก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีประสบอุบัติเหตุแม้จะไม่มีบาดแผลใดๆ สตรีมีครรภ์ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายและความปลอดภัยของทารกในครรภ์ หากรับประทาน ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ ห้ามขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการง่วงนอน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญ สตรีที่ตั้งครรภ์ 1 - 3 เดือน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้งได้ง่าย ส่วนสตรีที่มีอายุครรภ์ 7 - 9 เดือน ควรเลี่ยงการขับรถด้วยตนเอง เนื่องจากครรภ์มีขนาดใหญ่ หากประสบอุบัติเหตุ จะทำให้แม่และเด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงที่ทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิตได้