กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะหดตัวลงในปี 2557 จากความไม่สงบทางการเมือง และอยู่ในช่วงฟื้นตัว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวหายไปราว 2.5 ล้านคน สูญเสียรายได้ไป 109,560 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยวคงแทบไม่ลดลง
กรมการท่องเที่ยวได้สรุปสรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม 2557 โดยมีข้อมูลและข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจดังนี้:
1. ในเดือนกรกฎาคม 2557 พบว่า มีนักท่องเที่ยวจํานวน1,914,582 คนหดตัว 10.92% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังดีกว่าเดือนมิถุนายนที่หดตัวลงถึง 24.37%
2. เมื่อพิจารณาตลอดช่วงเดือนมกราคม–กรกฎาคม 2557 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจํานวน13,626,929 คนหดตัวร้อยละ10.47 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่าเท่ากับ631,013.38 ล้านบาทหดตัว 7.59% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
3. นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนมากที่สุดจากทุกชาติ ในเดือนกรกฎาคม 2557 มี 342,547 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่มี 458,683 ยังถือว่าลดลงถึง -25.32% หากพิจารณาเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 211,770 ในเดือนกรกฎาคม 2557 ลดลงถึง 36.27% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นี่แสดงว่ามาตรการที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศไทย ยังไม่ได้ผลแต่อย่างใด
4. รัฐประหารส่งผลต่อการท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสุวรรณภูมิในเดือนกรกฎาคม 2557 มี 991,760 คน ลดลง 21.91% ทั้งที่เลิกประกาศเคอร์ฟิวแล้ว
5. อย่างไรก็ตามในหัวเมืองไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น เชียงใหม่ ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 48,670 คน หรือ เพิ่มขึ้น 60.95% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กระบี่ มี 46,462 คนหรือเพิ่มขึ้น 255.73% และสมุย 15,006 คน หรือเพิ่มขึ้น 231.04% ทั้งนี้ยกเว้นภูเก็ตที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 224,051 คนหรือลดลง 9.17%
6. โดยที่นักท่องเที่ยวประเภท "กระเป๋าหนัก" จากยุโรป และอเมริกา ยังเข้ามาน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ตลอดทั้งปี 2557 จาก 26.7 ล้านคนเหลือ 24.2 ล้านคน หรือลดลง 2.5 ล้านคน
7. ตัวเลขนักท่องเที่ยวอีกชุดหนึ่งระบุว่ามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในไทย 26,735,583 คน สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 1,171,651.42 ล้านบาท หรือหัวละ 43,824 บาท ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวหายไป 2.5 ล้านคน ก็ทำให้รายได้หดหายไปประมาณ 109,560 ล้านบาท
อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม อาจมีรายได้หดตัวลงในช่วง 1-2 ปีนี้จากการฟื้นตัวของสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ อาจทำให้รายได้หดหายไปบางส่วน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าของตัวทรัพย์สินเอง หากรายได้จากการโรงแรมลดลง 30% ในปีที่ 1 (พ.ศ.2557) และ 10% ในปีที่ 2 (พ.ศ.2558) และคงที่ไปในปีที่ 3-40 โดยประมาณ ก็จะกระทบต่อมูลค่าของทรัพย์สินเพียง 2.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้ส่งผลต่อมูลค่าทรัพย์สินอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด