กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ชี้กรมกฎอนามัยระหว่างประเทศ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกต้องถือปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หรือความเสี่ยงด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อผู้เดินทาง โดยไม่กระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศและการค้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้หมอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดต่อต่างๆ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น
แพทย์หญิงวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กฎอนามัยระหว่างประเทศเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคระหว่างประเทศ ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และมีการเพิ่มเติมปรับปรุงในปี พ.ศ. 2548 และผลบังคับใช้เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โรคที่ต้องรายงาน ได้แก่ อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้เหลือง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อนิปาห์ โรคซาร์ค และไข้หวัดนก รวมทั้งขณะนี้มีการระบาดของโรคเมอร์ส-โควี และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในหลายประเทศสาระสำคัญของกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับ ค.ศ. 2005 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางจัดการกับปัญหาภัยสุขภาพฉุกเฉินข้ามชาติ เพื่อให้ความมั่นใจในการป้องกันอย่างสูงสุดต่อการแพร่ระบาดของภัยสุขภาพ โดยให้มีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศน้อยที่สุด และเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ ภารกิจที่ชัดเจน การตรวจจับและการตอบสนองต่อภัยสุขภาพ การแลกเปลี่ยนข้อมูลของแต่ละประเทศสมาชิก
แพทย์หญิงวราภรณ์ กล่าวต่อว่า บทบัญญัติของกฎอนามัยระหว่างประเทศได้กำหนดให้แต่ละประเทศต้องจัดให้มีหน่วยงานและผู้แทน (National IHR Focal Point) ในการประสานงานองค์การอนามัยโลกและดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ดังนี้ 1.การแจ้งให้องค์การอนามัยโลกทราบภายใน 24 ชั่วโมง ได้แก่ โรคฝีดาษ โปลิโอ โรคซาร์ค ไข้หวัดใหญ่ (ในคน) ที่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งเหตุการณ์ที่พิจารณาว่า เป็นภัยสุขภาพฉุกเฉินข้ามชาติ และ 2.กำหนดให้แต่ละประเทศต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพการเฝ้าระวังและสอบสวนควบคุมโรค ทั้งในด้านการเฝ้าระวังปกติ ตามช่องทางขาเข้า ออกประเทศ และในการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยสุขภาพฉุกเฉินข้ามชาติภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากกฎอนามัยระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้ เป็นต้น ซึ่งการมาเยี่ยมด่านในครั้งนี้เพื่อดูความพร้อมของด่านว่า พร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน และสามารถดำเนินการสอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศ
ด้านแพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น กล่าวว่า ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีความสำคัญเพราะมีบทบาทเป็นด่านแรกในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย เป็นด่านช่องทางบก เชื่อมต่อกับนครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว มีผู้เดินทางข้ามแดนประมาณวันละ 4,000 คน ซึ่งมีการดำเนินการดังนี้ 1.ถ้ามีเหตุผลด้านสาธารณสุขเพียงพอ จึงได้กำหนดช่องทางผ่านแดนทางบกและให้พัฒนาความสามารถ โดยพิจารณาจาก (ก) ปริมาณและความถี่ของชนิดของการเดินทางไปมาระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับช่องทางเข้าเมืองอื่น และ (ข) เหตุเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่เกิดในพื้นที่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ เส้นทางที่ผ่านมา ก่อนเดินทางมาถึงช่องทางเข้าเมืองนี้ 2.ประเทศสมาชิกที่มีเขตชายแดนร่วมกันจะพิจารณา (ก) ประชุมหารือข้อตกลงระหว่างทวิและพหุภาคีระหว่างแประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคช่องทางผ่านแดนทางบก และ (ข) ร่วมกันกำหนดช่องทางผ่านแดนทางบกที่อยู่ติดกัน เป็นต้น ซึ่งด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จ.หนองคาย และกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ได้ประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด่านจะมีอำนาจในการดำเนินการ เช่น 1.สังเกตกระเป๋าเดินทาง สินค้าบรรทุก ตู้บรรทุกสินค้า ยานพาหนะ สินค้าอื่นๆ พัสดุไปรษณียภัณฑ์ ศพมนุษย์ ขาออกหรือขาเข้าจากพื้นที่เขตติดโรค ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดจากแหล่งติดเชื้อหรือปนเปื้อน รวมถึงพาหะนำโรคและแหล่งรังโรค 2.ให้ความมั่นใจเท่าที่จะทำได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกที่บริการผู้เดินทาง ณ ช่องทางเข้าเมืองอยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะและปลอดจากแหล่งติดเชื้อหรือปนเปื้อน รวมถึงพาหะนำโรคและแหล่งรังโรค 3.รับผิดชอบในการนิเทศงานการกำจัดหนู การทำลายเชื้อโรค การกำจัดแมลงหรือการกำจัดสิ่งปนเปื้อนบนกระเป๋า สินค้าบรรทุก ตู้บรรทุกสินค้า ยานพาหนะ สินค้าอื่นๆ พัสดุไปรษณียภัณฑ์ ศพมนุษย์หรือมาตรการสุขาภิบาลที่กระทำต่อบุคคลว่ามีความเหมาะสมภายใต้กฎอนามัยนี้ 4.ให้คำแนะนำผู้ควบคุมยานพาหนะให้เข้าใจการดำเนินการมาตรการควบคุมแก่ยานพาหนะและอาจจะให้ข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรถึงวิธีการที่จะใช้ และ 5.เตรียมการและดำเนินการตามแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิผลในการจัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ไม่คาดคิด
“การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมทั้งการคัดกรองผู้เดินทางจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่จะมีผลดีทำให้เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวม โดยไม่กระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศและการค้า ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 02-590-3183, 3187 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” แพทย์หญิงศศิธร กล่าวทิ้งท้าย