กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ธนาคารทหารไทย
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 0.3 ก่อนเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชน...พร้อมจับตารายงานสภาพัฒน์ฯ วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม ที่จะถึงนี้
This document is issued by TMB Analytics, a division of TMB Bank PCL. All analyses are based on information available to the public. Although the information contained herein is believed to be reliable, TMB makes no guarantee to its accuracy and completeness. TMB may have issued, and may in the future issue, other reports that are inconsistent with, and reach different conclusions from, the information presented in this report. Opinions or predictions expressed herein reflect the authors’ views, not that of TMB, as of date of the analysis and are subject to change without notice. TMB shall not be responsible for the use of contents and its implication.
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีชะลอตัวลงมาพอสมควรจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนติดลบจากการที่ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย ภาคธุรกิจชะลอแผนลงทุนและการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐล่าช้า จนกระทั่งในช่วงกลางไตรมาสสอง ซี่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาปลดล็อกปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง
หลัง คสช. เข้ามาบริหารประเทศก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางออกมา เช่น การเร่งรัดการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว การตรึงราคาพลังงาน การจัดตั้งบอร์ด BOI รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสองได้ไม่มากนัก แต่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่นผู้บริโภค
Source: BOT, UTCC and TMB Analytics
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสองจะขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังปรับฤดูกาล) นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของไทยจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 0.2 อนึ่ง การขยายตัวในไตรมาสสองเป็นเพียงการขยายตัวทางเทคนิคเท่านั้น กล่าวคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้เล็กน้อยคือการหดตัวลงของการนำเข้า ซึ่งหดตัวลงถึงร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จึงส่งผลให้การส่งออกสุทธิของไทยในไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี เราคาดว่าการฟื้นตัวจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงที่จะเร่งตัวขึ้นจากการบริโภคและการลงทุน โดยได้รับอานิสงค์จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการดำเนินการตามกรอบของ คสช. อาทิ การจัดทำร่างงบประมาณปี 2558 และการอนุมัติกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่นานนี้ จะเป็นกลจักรสำคัญซึ่งช่วยผลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และนำไปสู่การกลับมาขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชน
สำหรับการบริโภคในภาคครัวเรือน ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง จากการศึกษาของเราพบว่า เมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา จะส่งผลให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ใช่ในทันที โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนก่อนที่การใช้จ่ายจะขยับตัวขึ้นตาม และต้องใช้เวลากว่า 1 ปีก่อนที่ผลกระทบจากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุด ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าการบริโภคในภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
สัญญาณบวกจากการลงทุนและการบริโภคดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะพลิกฟื้นจากช่วงครึ่งปีแรก ควบคู่ไปกับการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้น โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งหลังจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 และทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 ตามประมาณการเดิม