กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ซีพีเอฟ
ถ้าจะพูดถึงอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของคนรักสุขภาพแล้ว ต้องคิดถึงปลาเป็นเมนูแรกๆอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย ไม่มีไขมัน ส่วนปลาที่ได้รับความนิยมบริโภคมากในเวลานี้คงหนีไม่พ้น “ปลาทับทิม” ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยจนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจของพี่น้องเกษตรกรไทยทั่วประเทศ วันนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมเยือนเกษตรกรเมืองแปดริ้ว-ฉะเชิงเทรา เพื่อพูดคุยกับ “วิฑูร สุนทรเสณี” เจ้าของ “บางปะกงฟาร์ม” เกษตรกรคนเก่งที่กว่าจะสำเร็จได้ในวันนี้ ต้องล้มลุกคลุกคลานกับปัญหามานับไม่ถ้วน
“ที่มาของอาชีพเลี้ยงปลา เริ่มจากตอนที่ไปทำงานที่อิสราเอล และได้เห็นความยากลำบากของชาวยิวที่ต้องเลี้ยงปลาในทะเลทราย ปีหนึ่งใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 8 เดือน กว่าจะจับปลามากินได้ เมื่อย้อนคิดถึงที่บ้านเราที่อยู่ติดริมแม่น้ำบางปะกง มีที่ดินที่อุดมสมบูรณ์จะปลูกจะเลี้ยงอะไรก็ได้ ที่ดินตรงนี้ก็น่าจะมีประโยชน์กับตัวเองบ้าง แถมเรายังเรียนจบเกษตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงคิดเริ่มต้นอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชัง” วิฑูร เล่าย้อนอดีต
โดยเขาได้ติดต่อเข้าร่วมโครงการเลี้ยงปลาทับทิมซีพี กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เมื่อปี 2545 พร้อมก่อตั้ง "บางปะกงฟาร์ม" ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และเริ่มจากเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำบางปะกงบริเวณหน้าบ้านของตัวเอง แรกเริ่มเลี้ยงปลา 5 กระชัง เมื่อผลการเลี้ยงดีตามมาตรฐานจึงเพิ่มเป็น 10 กระชัง และขยายการผลิตขึ้นเป็นลำดับ จนเป็น 460 กระชัง วิฑูร บอกว่าการเลี้ยงปลากับซีพีมีผลกำไรที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการรับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเลี้ยงปลาแล้วจะขายได้ไหม เพราะบริษัทมารับผิดชอบเป็นตลาดแทน ระหว่างการเลี้ยงก็มีนักวิชาการของซีพีเข้ามาแนะนำและให้ความรู้ใหม่ๆเสมอ
ด้วยความสำเร็จในการเลี้ยงปลา วิฑูรจึงคิดต่อยอดสู่ผู้ที่สนใจ โดยเปิดฟาร์มปลาเป็นรีสอร์ท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสาธิตการเลี้ยงปลาทับทิม และเพาะปลูกพืชผักต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมที่หมุนเวียนเข้าศึกษาดูงานตลอดทั้งปี แต่หนทางอาชีพของวิฑูรก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องพบกับอุปสรรคที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อปี 2547 แม่น้ำบางปะกงเกิดวิกฤติน้ำเน่าเสีย ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำ จากปกติค่า DO อยู่ที่ 5 กลับลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 1 ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยในแม่น้ำตายหมด รวมถึงการเลี้ยงปลากระชัง
"น้ำที่คิดว่าคุณภาพดีและเหมาะกับการเลี้ยงปลามากที่สุดก็กลับเสียอย่างหนัก ทำให้ปลาตายจำนวนมาก จากปลากว่า 200,000 ตัว ใน 460 กระชัง เหลือรอดเพียง 1,000 ตัว ต้องสูญเงินกว่า 9 ล้านบาท ภายในคืนเดียว ยอมรับว่ารู้สึกท้อแท้กับอาชีพ จึงต้องเลิกเลี้ยงปลาในที่สุด" วิฑูร เล่าย้อนความหลัง
แม้ว่าการเลี้ยงปลาจะต้องล้มเลิกไป แต่ทีมงานของซีพีเอฟยังคงติดต่อกับวิฑูรอยู่ตลอด กระทั่งในปี 2550 ได้นำเอาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาทับทิมในบ่อดิน "ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม" ที่เป็นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเข้ามาเผยแพร่ให้กับวิฑูร เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขากลับมาเริ่มต้นอาชีพเลี้ยงปลาอีกครั้ง
"ตอนนั้นมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำของตัวเองให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้กับญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และผู้ที่สนใจ ได้มาศึกษาดูงานการสร้างอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยก่อนจะลงทุนได้ไปดูงานที่ฟาร์มของซีพีเอฟ และของเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในบ่อดินซึ่งสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมั่นใจว่าครั้งนี้ต้องสำเร็จแน่" วิฑูร กล่าว
สำหรับข้อดีของการเลี้ยงปลาทับทิมในบ่อดินนี้ คือช่วยลดความเสี่ยงจากการเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ และสามารถจัดการการเลี้ยงและหารป้องกันโรคปลาได้ง่าย ทั้งยังช่วยเพิ่มรอบการผลิต จาก 2 รอบต่อปี เป็น 3.5 รอบต่อปี ที่สำคัญต้องมีระบบการจัดการคุณภาพน้ำที่ดีเพื่อทำให้ปลาทับทิมมีการเจริญเติบโตดี ในปัจจุบันบางปะกงฟาร์มได้พัฒนาระบบการอนุบาลปลาทับทิมรุ่น เพื่อให้ลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงมากขึ้นก่อนนำไปลงเลี้ยงในกระชังเป็นปลารุ่นต่อไป จากเดิมปล่อยปลาทับทิมที่ขนาด 30 กรัมต่อตัว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปล่อยปลาทับทิมขนาด 100 กรัม ทำให้สามารถลดระยะเวลาการเลี้ยงปลาทับทิมลงได้ ปัจจุบันวิฑูร ขยายการเลี้ยงปลาทับทิมกระชังในบ่อดินจากแรกเริ่ม 1 บ่อบนพื้นที่ 6 ไร่ เป็น 12 บ่อ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ โดยนำเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืนด้วยระบบ "โค-คัลเจอร์" (Co-Culture) ที่ซีพีเอฟคิดค้นขึ้นมาใช้ โดยการเลี้ยงสัตว์น้ำ 3 ชนิด คือ กุ้งก้ามกราม กุ้งขาว และปลาทับทิม ในบ่อเดียวกัน ช่วยสร้างรายได้ให้กับวิฑูรเฉลี่ยถึงหลักแสนบาทต่อเดือน
เรื่องนี้ วันชัย ธัญญพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสัตว์น้ำจืด ซีพีเอฟ อธิบายว่าการเลี้ยงระบบ "โค-คัลเจอร์" นี้ จะต้องสำรวจพื้นที่การทำบ่อดินของเกษตรกรก่อน โดยซีพีเอฟจะทำการสำรวจความเหมาะสมของ พื้นที่ แหล่งน้ำที่ใช้ พื้นดินของบ่อ และการถ่ายน้ำจากบ่อออกไป ที่จะต้องไม่รบกวนแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งวิศวกรของซีพีเอฟจะออกแบบบ่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และสร้างบ่อมาตรฐาน ระบบนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นการนำธรรมชาติของสัตว์น้ำทั้ง 3 ชนิดมาช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน อย่างการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังจะมีการใช้เครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ก็จะช่วยให้คุณภาพน้ำในบ่อดีขึ้น และกุ้งทั้ง 2 ชนิด ซึ่งอาศัยอยู่ใต้บ่อ ก็ได้ประโยชน์จากเครื่องเพิ่มออกซิเจน ทำให้กุ้งมีสุขภาพดี การเจริญเติบโตดียิ่งขึ้นด้วย
ข้อดีอีกอย่างคือ ปกติแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องคอยตรวจสอบการกินอาหารของกุ้งด้วยวิธีการยกยอ เพื่อดูว่ากุ้งกินอาหารมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงที่อาจกระทบการกินของกุ้ง เพราะหากมีอาหารเหลือที่พื้นบ่อจะทำให้แอมโมเนียสูง แพลงตอนจะเติบโตเร็ว และปลาจะกินอาหารน้อยลง แต่เมื่อเลี้ยงร่วมกับปลาทับทิมซึ่งกินอาหารเม็ดลอยน้ำ เกษตรกรสามารถพิจารณาได้ว่ากุ้งกินอาหารหรือไม่ โดยดูจากการอัตราการกินอาหารของปลา ควบคู่กับการเช็กยอ ทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดการให้อาหารที่เหมาะสมได้มากขึ้น
“เพื่อให้ผู้บริโภคไปรับประทานอาหารที่ปลอดภัย เราจึงนำโปรแกรมซีพีเอฟเทอร์โบมาใช้ ด้วยการเลี้ยงเชิงป้องกัน ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ บวกกับการคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำดูแลคุณภาพน้ำทำให้ได้ปลาที่มีสุขภาพดี ปลอดจากสารเคมี” วันชัย กล่าว
นอกจากนี้ วันชัยยังแนะนำเกษตรกรในการเตรียมรับมือกับภาวะน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ที่จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาระบบกระชังในแม่น้ำที่ต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำ โดยแนะนำให้ทำโครงกระชังให้มีขากระชังลงไปทั้ง 4 ด้าน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความลึกกระชัง เพื่อป้องกันไม่ให้กระชังลู่ไปตามแรงน้ำ แต่ในพื้นที่ที่ภาวะน้ำหลากรุนแรงควรย้ายกระชังไปในจุดที่สามารถหลบแรงน้ำได้ และผู้เลี้ยงควรปรับปริมาณการให้อาหารในแต่ละมื้อลง โดยให้อาหารทีละน้อยเท่าที่ปลากินหมด และควรแบ่งจำนวนมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารมากขึ้น เนื่องจากปลาต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเพราะต้องว่ายต้านแรงน้ำที่รุนแรงกว่าปกติ ทำให้ปลาว่ายน้ำลำบากจึงกินอาหารได้น้อยลง ประกอบกับภาวะเครียดที่เพิ่มขึ้นทำให้ปลามีความอยากอาหารน้อยลง จึงควรผสมวิตามินซีในอาหารให้ปลากินครั้งละ 3 วันในทุกสัปดาห์ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานด้วย
สำหรับการเลี้ยงในรูปแบบบ่อดิน ซึ่งถือว่าเหมาะสมที่สุดในปัจจุบันสำหรับการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ ก็ควรปรับรูปแบบกระชังเป็นแบบกระชังลอย ที่มีอุปกรณ์ยึดไม่ให้ลอยไปกับกระแสน้ำได้ หากเกิดน้ำหลากสูงเกินระดับคันบ่อ และควรเลือกสถานที่เลี้ยงปลาที่มีความเสี่ยงต่อภาวะอุทกภัยต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยังคงมีปริมาณน้ำพอเพียงในการเลี้ยงเช่นน้ำจากระบบชลประทาน และอาจใช้แบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อสัตว์น้ำในการเลี้ยงปลา ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาและไม่ใช้สารปฏิชีวนะใดๆ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยควบคุมคุณภาพน้ำทำให้ได้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ผลผลิตปลาเนื้อคุณภาพเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง./