โพลล์เผยความคิดเห็นต่อการเขียนภาษาไทยด้วยลายมือและการคัดไทยของกลุ่มวัยรุ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday August 19, 2014 17:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นต่อการเขียนภาษาไทยด้วยลายมือและการคัดไทยของกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,140 คนสามารถสรุปผลได้ ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 51.05 ขณะที่ร้อยละ 48.95 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.72 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.81 และร้อยละ 28.86 จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าและระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าตามลำดับ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการเขียนภาษาไทย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 27.81 ระบุว่าตนเองรู้สึกสบายตาเป็นอันดับแรกเมื่อได้อ่านงาน/ข้อความภาษาไทยที่เขียนด้วยลายมือที่สวยงาม รองลงมารู้สึกอยากอ่านจนจบคิดเป็นร้อยละ 21.4 ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองรู้สึกปวดหัว/ปวดตาเป็นอันดับแรกเมื่อได้อ่านงาน/ข้อความภาษาไทยที่เขียนด้วยลายมือหวัด/ไม่สวยงามคิดเป็นร้อยละ 28.6 รองลงมาร้อยละ 21.49 ระบุว่ารู้สึกไม่อยากอ่านเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.53 เห็นด้วยที่เยาวชนไทยในยุคปัจจุบันเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงามน้อยกว่าสมัยก่อน ส่วนกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 69.65 ไม่คิดว่าตนเองเป็นคนเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงาม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 49.91 ระบุว่าการที่ตนเองพิมพ์งาน/ข้อความภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากกว่าการเขียนด้วยลายมือไม่มีส่วนทำให้ตนเองเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงามน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.04 ยอมรับว่ามีส่วน เมื่อเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างการเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงามกับการเขียนภาษาไทยให้มีเนื้อความที่อ่านรู้เรื่องเข้าใจง่าย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.49 ระบุว่าการเขียนให้อ่านรู้เรื่องเข้าใจง่ายมีความสำคัญมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.16 ระบุว่ามีความสำคัญเท่า ๆ กัน ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างการเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงามกับการเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องในรูปของการสะกดพยัญชนะ เขียนรูปสระ และใส่รูปวรรณยุกต์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.89 ระบุว่าการเขียนอย่างถูกต้องในรูปของการสะกดพยัญชนะ เขียนรูปสระ และใส่รูปวรรณยุกต์มีความสำคัญมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.3 ระบุว่ามีความสำคัญเท่า ๆ กัน ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการคัดไทย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.88 คิดว่าการคัดไทยจะมีส่วนช่วยให้สามารถเขียนภาษาไทยด้วยลายมือที่สวยงามมากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.68 มีความคิดเห็นว่าการคัดไทยจะมีส่วนช่วยให้สามารถเขียนภาษาไทยได้ถูกต้องในรูปของการสะกดพยัญชนะ การเขียนรูปสระ และการใส่รูปวรรณยุกต์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.26 มีความคิดเห็นว่าการมีชั่วโมงคัดไทยในชั้นเรียนมีความจำเป็น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.96 เห็นด้วยถ้าจะมีการกำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องจัดชั่วโมงคัดไทยให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ