กรุงเทพ--9 ก.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ปรับโฉมงานบริการชาวเกาะ โดยมอบเรือเร็วพยาบาล ให้โรงพยาบาลที่อยู่บนเกาะ 5 แห่ง เพื่อใช้ปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือฉุกเฉิน หรือออกหน่วยแพทย์กู้ชีพทางน้ำ เพื่อยกมาตรฐานบริการโรงพยาบาลเกาะให้อยู่ระดับเดียวกับโรงพยาบาลที่อยู่บนฝั่ง
ที่จังหวัดชลบุรี พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบเรือเร็วพยาบาลซึ่งเป็นเรือชุดแรก ให้โรงพยาบาลชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะจำนวน 5 แห่ง ที่โรงพยาบาลชลบุรีเมื่อเที่ยงวันนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะปรับบริการของโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนเกาะในทะเล ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความรวดเร็วในการบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยได้จัดทำโครงการพัฒนาสถานบริการ ระบบการบริการส่งต่อประชาชนที่อยู่บนเกาะและริมแม่น้ำขึ้น เพื่อให้การดูแลและสร้างหลักประกันด้านสุขภาพอนามัยให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งสถานบริการเพื่อให้บริการประชาชนบนเกาะรวม 96 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง สถานีอนามัย 89 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน 1 แห่ง ซึ่งสถานบริการดังกล่าวมีการส่งต่อผู้ป่วยปีละประมาณ 1,986 ราย เสียชีวิตระหว่างการนำส่งปีละประมาณ 19 ราย โดยปัญหาหลักของการส่งต่อคือการขาดยานพาหนะ ส่วนใหญ่จะอาศัยเรือรับจ้างหรือเรือชาวบ้าน มีค่าใช้จ่ายแพง และใช้เวลาการส่งต่อนาน 6-8 ชั่วโมง อุปกรณ์สื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่มีน้อย เมื่อเทียบกับการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลบนฝั่ง
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2539 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 10.5 ล้านบาท จัดสร้างเรือเร็วพยาบาลขนาด 32 ฟุต จำนวน 5 ลำ ราคาลำละ 2.1 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลชุมชนบนเกาะ 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.เกาะยาว จ.พังงา ร.พ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ร.พ.เกาะพงัน จ.สุราษฏร์ธานี ร.พ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี และร.พ.เกาะกูด จ.ตราด โดยใช้ชื่อเรือว่า สธ. และตามด้วยชื่อโรงพยาบาล ซึ่งเรือเร็วพยาบาลดังกล่าวจะมีมาตรฐานเช่นเดียวกับรถพยาบาลฉุกเฉิน นอกจากจะใช้สำหรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ฉุกเฉินแล้ว ยังใช้สำหรับเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุบัติภัยทางทะเลได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ประจำเรือที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 5-7 คน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า เรือดังกล่าวสามารถวิ่งได้เร็วไม่ต่ำกว่า 35 น็อต ตัวเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า 32 ฟุต กว้างประมาณ 9 ฟุต เป็นเรือกินน้ำตื้น สามารถเข้าเทียบส่งผู้ป่วยได้ถึงฝั่งไม่ต้องขนย้ายผู้ป่วยหลายครั้ง ตัวเรือทำด้วยไฟเบอร์กลาสทั้งลำ ซึ่งจะมีความทนทานต่อการกระทบกระเทือนได้ค่อนข้างสูง ภายในเรือประกอบด้วย ห้องรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีเตียงผู้ป่วยชนิดปรับความสูงร่างกายส่วนบนได้ 1 เตียง และเปลสนามอีก 1 เตียง โดยติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักและฉุกเฉิน อาทิถังออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เครื่องปรับอากาศ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร เรดาร์ สัญญาณไฟพยาบาลและไซเรนครบชุด นอกจากนั้ยังมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถปั่นไฟใช้ได้ขณะปฏิบัติการ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้สะดวกยิ่งขึ้น--จบ--