Bangkok--20 Aug--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ ‘BBB-’ และ ‘A+(tha)’ ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนอยู่ในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bbb-’ อันดับเครดิตสะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่ดีในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลาง (มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินเชื่อและเงินฝากใหญ่เป็นอันดับที่ 7) และมีการดำเนินงานอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้น อันดับเครดิตยังได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ของธนาคารปรับตัวลดลงเป็น 4.5% ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (reserve coverage) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 140% ณ สิ้นปี 2556 เทียบกับ 9.9% และ 57% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารได้ทำการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปจำนวน 3.3 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 และอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมได้ปรับตัวลดลงอีกเป็น 4.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2557 อย่างไรก็ตามสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่มีความไม่แน่นอนและเปราะบางยังคงเป็นความท้าทาย โดยประมาณ 40% ของพอร์ตสินเชื่อของ TMB เป็นสินเชื่อบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งอาจมีความอ่อนไหวมากกว่าต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ในปี 2556 TMB มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) ที่ 0.8% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 9.9% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศที่ 1.3% และ 13.6% ตามลำดับ ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 2% ในครึ่งแรกของปี 2557 จะขยายตัวมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2557 หากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานยังเอื้ออำนวย ฟิทช์ยังได้คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หากสภาวะแวดล้อมไม่เกิดปัจจัยลบที่รุนแรง เนื่องจากธนาคารมีความเสี่ยงกับลูกหนี้ที่เป็นบริษัทขนาดกลางและเล็กมากกว่าลูกหนี้ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ (corporates)
ฟิทช์เชื่อว่าระดับเงินกองทุนของ TMB อยู่ในระดับที่เพียงพอและใกล้เคียงกับธนาคารพานิชย์ขนาดกลางอื่นในประเทศไทย โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 9.9% และอัตราส่วนเงินกองทุนที่คำนวนโดยฟิทช์ (Fitch Core Capital) ที่ 11.4% ณ สิ้นปี 2557 ระดับเงินกองทุนดังกล่าวน่าจะช่วยรองรับผลกระทบจากหนี้สูญได้บ้าง การระดมทุนและสภาพคล่องของ TMB อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับธนาคารพานิชย์ขนาดกลางอื่นในประเทศไทย นอกจากนี้ธนาคารยังมีสัดส่วนเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และ อันดับเครดิตภายในประเทศ
หากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่นคุณภาพสินทรัพย์และรายได้ มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญและการเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) โดยที่ไม่มีการชดเชยในการเพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไร อาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต อันดับเครดิตของธนาคารไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ TMB คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตปัจจุปันแล้ว
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB สะท้อนมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย (อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) หากมีความจำเป็น TMB มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ โดยเป็นธนาคารพานิชย์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ทั้งในด้านสินเชื่อ (4.5%) และ เงินฝาก (4.8%)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (ซึ่งโดยปรกติอาจจะสะท้อนจากขนาดของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก) อาจส่งผลให้โอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปและอาจจะส่งผลต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำเช่นกัน การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลงหลายอันดับ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ TMB มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB-’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของโครงการหุ้นกู้ EMTN มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐๆที่ ‘BBB-’
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb-’
- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BB+’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘A+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับที่ ‘A(tha)’