กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2557 จำนวน 1,147 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 27.6, 41.5 และ 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 51.8,12.3,12.5,11.0 และ 12.4 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 85.3 และ 14.7 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
จากการสำรวจพบว่า ระดับความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าดัชนี ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการเริ่มเห็นทิศทางและนโยบายที่ชัดเจนทางการเมือง ประกอบกับการดำเนินกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางอุตสาหกรรมมียอดขายลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความตื่นตัวในเรื่องการค้าชายแดน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับผู้ประกอบการส่งออกได้แสดงความกังวล ต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนมิถุนายนโดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกรกฎาคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับเพิ่มขึ้นจากในเดือนมิถุนายนขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 88.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.5 เพิ่มขึ้นจาก 101.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 88.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 88.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.6 เพิ่มขึ้นจาก 100.6 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 91.7 ลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.9 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนมิถุนายน ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 92.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 92.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคกลางในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการและการวางแผนการลงทุนของผู้ประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และ
รถจักรยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เช่น ยางรถยนต์ ท่อ อะไหล่ มียอดการส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น สินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องตัดโลหะ เครื่องพ่นสีโลหะ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักร มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 86.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องของการค้าชายแดน และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกในภาคเหนือ ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญของภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สินค้าประเภทผ้าลูกไม้ เส้นด้าย และเส้นไหมดิบ มียอดขายและคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน กระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจากการเดินหน้าโครงการภาครัฐ ขณะที่สินค้าประเภทกระเบื้องปูพื้นแกรนิตส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม และมาเลเซียเพิ่มขึ้น ด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สินค้าเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการจัดงานแสดงสินค้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 89.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในโครงการก่อสร้างส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มียอดขายปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จในประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดาน อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กเส้น โครงเหล็ก เหล็กดัด มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูเพาะปลูกจึงส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรขยายตัวเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร รถไถนา และเครื่องมือการเกษตร เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 93.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการภาคตะวันออก ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก กล่องบรรจุอาหาร ขวดพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเคมี มียอดขาย
สีทาอาคารเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและโครงการก่อสร้างต่างๆ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน เบนซีน และพาราไซลีน มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 101.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 78.2 ลดลงจากระดับ 80.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการภาคใต้ ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเกิดจากปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบจากการตกต่ำของราคายางและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ ส่งผลต่อรายได้ของเกษตกรซึ่งเป็นกำลังซื้อสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังประสบปัญหาการชะลอคำสั่งซื้อยางประเภทแผ่นยางดิบและยางรมควันจากประเทศจีน ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทกุ้งอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังส่งผลลบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนกรกฎาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนมิถุนายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 90.8 เพิ่มขึ้นจาก 87.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 82.8 ลดลงจากระดับ 95.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.6 ลดลงจากระดับ 102.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2557 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดทิศทางและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า ปัจจัยการผลิต แรงงาน เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าชายแดน พร้อมสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs