กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรณีที่มีข่าววิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินในการแปรสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ต้องโอนให้แก่กระทรวงการคลังตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2550 ว่ามีการโอนครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการที่จะมีการจัดตั้งบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติขึ้นใหม่จะเป็นการถ่ายโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เอกชนเป็น เจ้าของหรือไม่ และนโยบายการบริหารกิจการของไทยที่จะดำเนินต่อไปจะเป็นการปฏิรูปหรือ เป็นการแปรรูป ครั้งที่ 2 นั้น
เพื่อความสบายใจและเข้าใจตรงกัน กระทรวงการคลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรม ธนารักษ์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายแดง ที่ ฟ.35/2550 ให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้อำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดิน การก่อสิทธิเหนือพื้นดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อและท่อก๊าซ รวมถึงอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งท่อก๊าซธรรมชาติที่ฝังติดตรึงตราถาวรหรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงการคลัง ส่วนทรัพย์สินที่ ปตท.ได้มาโดยไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนแต่ได้มาโดยวิธีอื่น เช่น การซื้อ การจัดหา หรือแลกเปลี่ยน เป็นการได้มาตามกฎหมายเอกชนไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2550 มอบหมายกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิ โดยให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
กรมธนารักษ์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดโดยมีผู้แทนหน่วยงานภายนอก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรมที่ดินร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ผลการแบ่งแยกสรุปได้ว่า ทรัพย์สินที่จะดำเนินการแบ่งแยก ได้แก่ ทรัพย์สินที่ ปตท.มีอยู่ถึงวันแปรสภาพโดยทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกได้แก่ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ ปตท.ได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ คือ ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน สิทธิเหนือพื้นที่ดินที่ ปตท.ได้รับมาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และท่อส่งก๊าซธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่ฝังตรึงตราถาวรหรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน ได้แก่ ที่ดินที่เวนคืนจำนวน 106 แปลง มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชน มูลค่าประมาณ 1,124 ล้านบาท ท่อและอุปกรณที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 14,008 ล้านบาท และท่อส่งก๊าซย่อยอีก 2 โครงการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกเพื่อโอนให้กระทรวงการคลังประมาณ 15,500 ล้านบาท ส่วนท่อก๊าซในทะเล ปตท.ไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินอันเป็นท่อในทะเล และท่อในทะเลก็เป็นการวางท่อกับพื้นใต้ทะเลมิได้มีการฝังติดตึงตราอันจะทำให้ท่อนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นส่วนควบกับที่ดินตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด สำหรับทรัพย์สินส่วนที่เหลือก็เป็นทรัพย์สินที่ ปตท.ไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐในการได้มา เพราะเป็นการได้มาโดยการจัดซื้อ จัดหา หรือแลกเปลี่ยนตามกฎหมายเอกชน หลังจากแบ่งแยกเสร็จสิ้นแล้ว ได้รายงานผลการแบ่งแยกให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. กรณีที่จะมีการจัดตั้งบริษัทท่อก๊าซขึ้นใหม่นั้น ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่กระทรวงการคลังรับโอนมาจาก ปตท.และได้จัดให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ใช้โดยมีค่าตอบแทน ตาม ที่กล่าวมา บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ก็จะมีสิทธิเพียงได้ใช้ทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซของกระทรวงการคลังเท่านั้น จะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ไป และการเข้าใช้ทรัพย์สินของบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ก็จะต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลังทั้งเรื่องเงื่อนไขและค่าตอบแทนใหม่ทั้งหมด การตั้งบริษัทท่อก๊าซเป็นเพียงการเปลี่ยนผู้บริหารท่อเท่านั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกระทรวงการคลังที่รับโอนมาจาก ปตท.แต่อย่างใด