กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอ อนุมัติเพิ่มอีก 15 โครงการ เงินลงทุนกว่า 40,000 ล้าน ครอบคลุมทั้งกลุ่มพลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ส่งผลให้ยอดรวมการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโดยบอร์ดบีโอไอ และคณะอนุกรรมการ มีจำนวน 121 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมบอร์ดครั้งที่ 3 ภายหลัง คสช.ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 โดยที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดบีโอไอแล้วรวม 106 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 278,301.5 ล้านบาท ซึ่งหากรวมผลการประชุมครั้งนี้ก็จะมีโครงการได้รับการอนุมัติรวม 121 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท
สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 40,538 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขยายการผลิตเนื้อสุกรชำแหละ กำลังการผลิต 106,920 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,736 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
2.บริษัท มอนเด นิสซิน (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน กำลังผลิตปีละประมาณ 24,840 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,030.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี
3.บริษัททรัพย์ทิพย์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายการผลิตเอทานอล 99.5% จากมันสำปะหลังกำลังการผลิต 99,000,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,588 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
4.นายทัพชัย ผาณิตพิเชฐวงศ์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเอทานอล 99.5% จากกากน้ำตาล กำลังการผลิต 60,000,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
5.บริษัทราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเอทานอล 99.5% จากมันสำปะหลัง กำลังการผลิต 108,900,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,046.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
6.บริษัท อีซูซุเอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล กำลังผลิต 185,000 เครื่องต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,132.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ
7. บริษัท กัลฟ์ เอ็นแอลแอล 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,172 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เหมราช ระยองที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดระยอง
8. บริษัท กัลฟ์ บีแอล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,082 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
9. บริษัท กัลฟ์ บีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,159 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
10. บริษัท กัลฟ์ เอ็นพีเอ็ม จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,148 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เหมราช สระบุรี จังหวัดสระบุรี
11. บริษัท บัวใหญ่ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ประเภท เปลือกไม้ และเศษไม้สับ กำลังการผลิต 55 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,920 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
12. บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ที่นำมาจากขยะในชุมชนพื้นที่ กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 968.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย
13. บริษัท เค.มอเตอร์สปอร์ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการสนามแข่งยานยนต์ ขนาดความยาว 4,554 เมตร เพื่อให้บริการเช่าสนามและอุปกรณ์ ในการจัดการแข่งขันหรือทดสอบสมรรถนะของค่ายรถยนต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ตำบลอีสาณ จังหวัดบุรีรัมย์
14. บริษัท พรีเชียส โอปอลส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางเรือ ให้บริการรับบรรทุกสินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ไม้ซุง เงินลงทุนทั้งสิ้น 876.80 ล้านบาท
15. บริษัท พรีเชียส รูบีส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางเรือให้บริการบรรทุกสินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ไม้ซุง เงินลงทุนทั้งสิ้น 876.80 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติการขอแก้ไขโครงการจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท โตโยโตมิ ออโต้ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วน โลหะ ปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ โดยจะเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ “แม่พิมพ์” กำลังการผลิต 100 ชุดต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหรกรมทีเอฟดี จ.ฉะเชิงเทรา
2.บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ โดยลงทุนเพิ่มและแก้ไขกรรมวิธีการผลิตหม้อน้ำรถยนต์ (RADIATOR) กำลังผลิต 1,800,000 ชุดต่อปี และชิ้นส่วนหม้อน้ำรถยนต์ เช่น CORE, TUBE, TANK และ BLOWER เป็นต้น กำลังการผลิต 42,490,000 ชิ้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 168 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา