กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--GIZ
องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสมาคมน้ำนานาชาติ (IWA) ในการดำเนิน “โครงการบรรเทาสภาวะโลกร้อนที่เกี่ยวข้องกับน้ำและน้ำเสีย” โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสมดุลคาร์บอนในกิจการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสีย โดยการใช้เทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการพัฒนาวิธีการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนกิจการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสีย
โครงการฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) และมีระยะการดำเนินงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ถึงเดือนมกราคม 2562 ในประเทศไทย เม็กซิโก และเปรู
นายไพโรจน์ สัตยสัณห์สกุล ผู้อำนวยการ องค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีภารกิจในการรับมือต่อความท้าทายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งระบุไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิธีสารเกียวโต (2548 - 2555) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ แม้ว่าร้อยละ 47.5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคส่วนการจัดการขยะและของเสียจะมาจากน้ำเสีย ขณะนี้ยังไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนกิจการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสีย ดังนั้น ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯ จะเป็นประโยชน์ในระดับโครงการนำร่องด้านการปรับปรุงทั้งในส่วนของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และทบทวนกลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนการบำบัดน้ำเสียในระดับประเทศ"
มร. ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า “กิจการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสียเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุด โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก โดย GIZ และ IWA ได้ร่วมมือกับประเทศไทย เม็กซิโก และเปรู กิจการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสียส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ยังใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี
สำหรับบำบัดน้ำเสียที่ใช้พลังงานมาก จึงมีโอกาสในการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมหาศาล นอกจากนั้นจะมีการรวบรวมประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการในระดับนำร่องและระดับชาติไว้เป็นส่วนหนึ่งของคู่มือสำหรับองค์กรที่ดำเนินการสาธารณูปโภคน้ำและน้ำเสีย”
“ผลจากการดำเนินโครงการไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในเรื่องการลดต้นทุน แต่ยังสนับสนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 และจะมีการรวมการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ในนโยบายแห่งชาติด้วย” มร. มาเลอร์ กล่าวเสริม