กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่ลดลง รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการขึ้นภาษีสรรพสามิตในในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไปและจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานในธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้กลยุทธ์ในการควบรวมกิจการของบริษัทอาจเพิ่มความต้องการใช้เงินทุนในอนาคตได้ ซึ่งผลกระทบที่จะมีต่ออันดับเครดิตทริสเรทติ้งจะพิจารณาด้านต้นทุนและผลตอบแทนของแต่ละโครงการต่อไป
บริษัทไทยเบฟเวอเรจก่อตั้งในปี 2546 กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย บริษัทยังได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในปี 2549 โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2557 ตระกูลสิริวัฒนภักดีมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท
สถานะทางธุรกิจของบริษัทถือว่าเข้มแข็งมากโดยได้รับแรงหนุนจากสถานะผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงปริมาณของตลาดสุราสีในประเทศไทย (Off-trade) ประมาณ 95% และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์รายใหญ่อันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ในปี 2556 ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทประกอบด้วยฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง เครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โรงงานผลิตเครื่องดื่มของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง และโรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 10 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์และอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย ตราสัญลักษณ์สินค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ “หงส์ทอง” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุรา “ช้าง” สำหรับเบียร์ “โออิชิ” สำหรับเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น และ “เอส” สำหรับเครื่องดื่มน้ำอัดลม การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่และเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและสามารถกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไปยังร้านจำหน่ายที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ตลอดจนการขึ้นภาษีสรรพสามิตและกฎระเบียบที่เข้มงวดในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งไม่เป็นการส่งเสริมการบริโภค
บริษัทมีรายได้รวม 155,771 ล้านบาทในปี 2556 และ 81,068 ล้านบาทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ธุรกิจสุรายังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทซึ่งคิดเป็น 64% ของรายได้รวม ในขณะที่ธุรกิจเบียร์สร้างรายได้ 22% ของรายได้รวม ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารสร้างรายได้ส่วนที่เหลือ ธุรกิจสุรายังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรของบริษัทโดยสร้างกำไรประมาณ 87% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)
รายได้ของบริษัทในปี 2556 ลดลง 3% จากปีก่อนอันเป็นผลจากปริมาณขายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ลดลง ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ที่ลดลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความขัดแย้งทางการเมืองในปีก่อน นอกจากนี้ การขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือนกันยายน 2556 ยังส่งผลในทางลบต่ออุปสงค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย โดยในปี 2556 ปริมาณขายสุราและเบียร์ของบริษัทลดลงจากปีก่อน 2% และ 9% ตามลำดับ ในขณะที่ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของบริษัทซึ่งทำหน้าที่หลักในการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมยังรายงานปริมาณขายที่ลดลง 32% และมีผลขาดทุนจากการดำเนินในงานในปี 2556 จากการสิ้นสุดสัญญากับ Pepsi Co. ในเดือนพฤศจิกายน 2555 นอกจากนี้ การออกสินค้าใหม่ “เอส” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์สินค้าของบริษัทเองยังต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วย รายได้ของบริษัทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาสุราและเบียร์เป็นสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสุราจะยังคงเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในระยะปานกลาง โดยอุปสงค์ของการบริโภคสุราค่อนข้างเสถียรและคาดว่าจะค่อย ๆ เติบโตไปพร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ฟื้นตัว
สถานะทางการเงินของบริษัทถือว่าแข็งแกร่งพอควรซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่รักษาระดับอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และสภาพคล่องที่เพียงพอ ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อหุ้น 28.6% ใน Fraser and Neave Limited (F&N) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ในปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับระดับ 15%-16% ในช่วงปี 2553-2556 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาขายและแผนการลดต้นทุน ธุรกิจสุรามีอัตรากำไรสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสายธุรกิจอื่นของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจเบียร์กลับมามีกำไรหลังจากที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์แสดงผลขาดทุนในปี 2556 อันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรง ส่วนธุรกิจอาหารมีอัตรากำไรค่อนข้างเสถียรที่ประมาณ 10% ในช่วงระยะปานกลางทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 16% ซึ่งสะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะคงความพยายามในการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องคงค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการส่งเสริมการขายไว้เพื่อสร้างตราสัญลักษณ์ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์
บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2555-2556 เพิ่มขึ้นจาก 17,861 ล้านบาทในปี 2554 โดยคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่คาดว่าจะปรับดีขึ้น สภาพคล่องของบริษัทเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2555 เป็น 28% ในปี 2556 และอยู่ที่ 38% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) บริษัทมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระ ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2557 และอีก 13,000 ล้านบาทในปี 2558 สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินสดจำนวน 2,963 ล้านบาทและสินค้าคงคลังประเภทสุราที่ผลิตแล้วเสร็จอีกจำนวน 9,746 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยได้รับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 68,269 ล้านบาทด้วย
เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 หลังจากที่บริษัทซื้อหุ้น 28.6% ใน F&N อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับเงินสดจากการลดทุนของ F&N บริษัทได้นำเงินสดดังกล่าวไปใช้ชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดจำนวน 33,346 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2556 และอีกประมาณ 4,420 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเงินปันผลรับในช่วงปี 2556-2557 มาจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนดอีกจำนวน 2,851 ล้านบาทด้วย เป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 55% ในปี 2555 เป็น 41% ในปี 2556 และเป็น 36% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 โดยรวม 12,200 ล้านบาทเพื่อใช้บำรุงรักษาโรงงานผลิต รวมทั้งใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆ ลดลงและอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้จะแข็งแกร่งขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่วางแผนไว้และการจ่ายเงินปันผลที่คาดไว้ในระดับที่จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงไปต่ำกว่า 35% ในช่วงปี 2557-2559
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable