กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--โอเค แมส
นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเชิงสัมมนาเรื่อง “การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน - ๑๓๑ แบบผู้ป่วยนอก” ระดมความคิดเห็นบุคลากรทางการแพทย์ ประเมินผลกระทบความปลอดภัยจากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่รักษาด้วยไอโอดีน – ๑๓๑ แบบผู้ป่วยนอก หวังเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ และนำไปสู่การพัฒนาระบบการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยเชิญแพทย์ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาล สมาคมวิชาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ตลอดจนประชาชนทั่วไป กว่า ๖๐ คน ร่วมแสดงความคิดเห็น ประเมินความปลอดภัยผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่รักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน - ๑๓๑ แบบผู้ป่วยนอก และประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป
“การสัมมนาครั้งนี้ จะมีการพิจารณาร่างข้อแนะนำในการคัดกรองผู้ป่วย เพื่อให้หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงพยาบาลต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาด้วยไอโอดีน – ๑๓๑ แบบผู้ป่วยนอก และเพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยไอโอดีน – ๑๓๑ และผู้ดูแลผู้ป่วยใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งตนเอง ผู้ใกล้ชิด และสาธารณชน ผมหวังว่า การสัมมนานี้ จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการรักษามะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ด้วยไอโอดีน - ๑๓๑ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายสุพรรณฯ กล่าว
ปัจจุบันมีพัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลายวิธี ซึ่งการรักษามะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน - ๑๓๑ เป็นวิธีการรักษาหลังการผ่าตัดที่ได้ผลดี นอกจากจะสามารถทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์แล้ว เซลล์มะเร็งตามอวัยวะอื่นที่มีต้นกำเนิดจากต่อมไทรอยด์ ก็มีความสามารถในการดูดซึมสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 เป็นผลให้เซลล์มะเร็งเหล่านั้นถูกทำลายและตายลงเช่นกัน
การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายมากเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้ย่อมมีการขับถ่ายสารกัมมันตรังสีนั้นออกมา ซึ่งอาจมีอันตรายต่อบุคคลอื่นรวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีข้อกำหนดให้สถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ด้วยวิธีนี้ ต้องให้ผู้ป่วยพำนักอยู่ในสถานพยาบาลจนกว่าปริมาณรังสีในร่างกายผู้ป่วยจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยทางรังสีต่อผู้ดูแล ญาติ และประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ สถานที่ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งมีผู้ป่วยรอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ (International Commission on Radiological Protection) เสนอว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ด้วยไอโอดีน – ๑๓๑ แบบผู้ป่วยนอก นั้นสามารถกระทำได้ หากแต่ต้องมีการคัดกรองผู้ป่วยเป็นอย่างดีและมีการประเมินความปลอดภัยทางรังสีให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป โดยปริมาณรังสีที่ได้รับไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แพทย์ผู้ให้การรักษา หรือ กลุ่มกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รังสีทางการแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๓๕๑๖ – ๓๕๑๗