ควบคุมโรคอุบลฯ ย้ำไม่พบผู้ป่วย“อีโบลา”ในไทย

ข่าวทั่วไป Friday August 22, 2014 17:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ย้ำไม่พบผู้ป่วย“อีโบลา”ในไทย พร้อมเฝ้าระวังเข้มด่านควบคุมโรค แนะประชาชนอย่าตระหนก แต่ควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึง โรคติดเชื้อไวรัส อีโบลา ว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ติดต่อจากสัตว์ สู่คนโดยการสัมผัสสัตว์ในขณะชำแหละสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตาย หรือรับประทานเลือด นม หรือเนื้อสัตว์ทั้งดิบและสุก และสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยอีโบลาที่มีอาการเท่านั้น หรือการสัมผัสเข็มและหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ ไม่ติดทางการหายใจ กินอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ โรคนี้มีระยะฟังตัว 2-21 วัน การป้องกันที่สำคัญคือ ป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับเลือด หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย และการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือเครื่องในของสัตว์ที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอีโบลายังมาไม่ถึงประเทศไทย และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็ง นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ได้กำชับให้ด่านควบคุมโรคในพื้นที่รับผิดชอบทุกแห่งให้ติดตามข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการมาตรการคัดกรองผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงการมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ซึ่งขณะนี้ มี 4 ประเทศ คือกินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ไม่ให้เกิดความหวาดวิตก หรือตื่นตระหนกตกใจ ทั้งนี้หากประชาชนมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ขอให้ผู้เดินทางหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา ศพ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ หลังเดินทางกลับมาในประเทศไทย สังเกตอาการผิดปกติ เช่นมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว เลือดออก หรืออื่น ๆ ภายใน 21 วัน นับจากเดินทางกลับ หากไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง รวมทั้งคอยติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้ถึงสถานการณ์และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ