กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
สุขภาพจิตใจของคนในปัจจุบันต้องเผชิญความเครียด ปัญหานานาชนิด ทำให้มีอัตราของผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น จนในบางครั้งภาครัฐบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ อีกทั้งตัวผู้ป่วยหลายคนขาดความรู้ความเข้าใจ หรือเกิดความอายที่จะต้องไปพบเพื่อปรึกษาปัญหากับจิตแพทย์ จนทำให้อาการทางจิตที่เป็นอยู่ลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง บางรายอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ ทำให้โรงพยาบาลกรุงเทพเกิดแนวคิดที่จะปฏิวัติทัศนคติดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมเปิดบ้าน “ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ” ในบรรยากาศของบ้านอันแสนอบอุ่น ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว ทำให้การมาพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพของคนในยุคปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความผิดหวัง ท้อแท้ หลังจากต้องเผชิญกับโรคร้ายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตอย่างเฉียบพลัน ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องการหาที่พึ่งทางใจ ขณะที่รูปแบบการให้บริการปรึกษาและฟื้นฟูสุขภาพจิต ณ ปัจจุบันไม่ได้ยืนอยู่บนหลักวิชาการที่เป็นคำตอบให้กับทุกคน ท่ามกลางกระแสของโลกที่ปรับเข้าสู่การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย การให้น้ำหนักกับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ความผ่อนคลาย และการปรับความรู้สึกเดิมๆ ของโรงพยาบาลให้กลายเป็นบ้าน ซึ่งในอดีตแผนกจิตเวชจะให้ผู้ป่วยมาอยู่รวมกันเป็นนิคมผู้ป่วยจิตเวช ไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีการเคารพความเป็นมนุษย์กัน แน่นอนว่าผู้ป่วยที่มีความทุกข์ใจอยู่แล้วต้องการสิ่งที่สวยงาม ต้องการความสงบ ต้องการสถานที่ที่ทำให้เขาสบายใจ และต้องการการฟื้นฟูตัวเอง จึงเป็นจุดริเริ่มในการก่อตั้ง ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ หรือ Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center (BMRC) นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแนวคิดใหม่ เพราะเราเชื่อว่า สุขภาพดี เริ่มต้นที่ "ใจ" จึงมีการออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก โดยเน้นความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ใส่ใจตั้งแต่การเลือกใช้โทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน พร้อมด้วยบริการอย่างเข้าใจ ซึ่งภายในศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ประกอบด้วยห้องตรวจ และห้องพักที่รองรับผู้ใช้บริการได้ 7ห้อง ( 7 เตียง) แต่ละห้องขนาด 40 ตารางเมตร มีห้องเฝ้าระวังผู้ป่วยวิกฤต (Special Care Unit) 2 เตียงสำหรับผู้ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หรือมีความเสี่ยงหากต้องอยู่ตามลำพัง รวมถึงห้องสงบสติอารมณ์ (Quiet Room) และโซนทำกิจกรรมสันทนาการกลุ่ม ฝึกเรียนรู้การดำเนินชีวิตที่อาจบกพร่องจากความผิดปกติของจิตใจ ซึ่งด้านในจะตกแต่งให้อารมณ์เหมือนบ้าน มีมุมพักผ่อน แสงธรรมชาติส่องถึง เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นออกแบบโดยเน้นความปลอดภัยไม่มีเหลี่ยมหรือตะขอที่สุ่มเสี่ยงให้คนไข้ทำร้ายร่างกาย เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำเน้นความปลอดภัยระดับสูง ด้านนอกมีสวนหย่อมขนาดหน้ากว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตรสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ในส่วนของผู้ป่วยนอก ด้านหน้าเป็นโถงกว้างขวาง สะอาดสบายตา มีโซฟา มีเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นไว้รองรับ นอกจากนี้ภายในบ้านศูนย์จิตรักษ์แห่งนี้ยังมีห้องทำกิจกรรมใหญ่ๆ ถึง 2 ห้อง โดยมีเป้าหมายด้านการรักษา ภายใต้กระบวนการบำบัดแนวใหม่แบบ "Recovery" ที่สนับสนุนให้แต่ละคนตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเพื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่อาจสร้างผลกระทบกับจิตใจได้อย่างมั่นคง โดยเน้นการรักษาตามหลักวิชาการ ไม่มีการบังคับ หรือจำกัดสิทธิ ควบคู่กับการทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูจิตใจตามหลักสากล อาทิ ปรับแนวคิด มุมมอง และการพัฒนาเทคนิคการเข้าสังคม การเข้ากลุ่มทำกิจกรรมโยคะ ไทชิ ศิลปะบำบัด และดนตรีบำบัด การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เป็นต้นภายใต้การรวมตัวของทีมจิตแพทย์ แพทย์เฉพาะทางด้านสารเสพติด นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเวช เภสัชกร ที่มากด้วยประสบการณ์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งมีทักษะดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยความใส่ใจ เสมือนครอบครัวเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจ และสบายใจในการเข้ามาปรึกษากับคุณหมอมากขึ้น พร้อมเปิดให้บริการวินิจฉัย รักษา ตลอดจนบำบัด และฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการของโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว (ไบโพล่าร์) รวมถึงผู้ที่ต้องการเลิกสุรา หรือสารเสพติด นอกจากนี้ยังครอบคลุมผู้ป่วยโรคทางกายที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องการการดูแลสุขภาพกายและจิตใจไปพร้อมกัน รวมทั้ง คนทั่วไปที่มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งจากภาวะนอนไม่หลับ ปัญหาในครอบครัว การเงิน การงาน การเรียน ความเครียด และญาติผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับภาวะทางจิตใจ
นอกจากนี้คุณหมอเบิร์ท ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจนน่าตกใจ และที่น่ากลัวกว่านั้นคือผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้ ซึ่งหลายคนไม่ปรากฏอาการใดๆ คือ ภายนอกดูปกติเหมือนคนทั่วไป บางคนดูอารมณ์ดี ร่าเริง แต่กลับมีภาวะโรคซึมเศร้าซ่อนอยู่โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เลย โดยภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อครอบครัวผู้ป่วย ความสัมพันธ์ส่วนตัว การทำงานหรือการเรียน การนอนหลับและการรับประทานอาหาร และสุขภาพทั่วไป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นจะมีอารมณ์หดหู่ และไม่อยากทำกิจกรรมที่ปกติเคยชอบทำ มักจะหมกมุ่น มีความคิดหรือรู้สึกถึงการไม่มีคุณค่า ความเสียใจหรือรู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หมดหวัง และเกลียดตัวเอง ในรายที่รุนแรงจะแสดงอาการของภาวะทางจิต (psychosis) เช่น เห็นภาพหลอน (hallucination) หรือหลงผิด (delusion) ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ สมาธิแย่ลงและความจำสั้นในผู้ป่วยที่มีภาวะใจลอยร่วมด้วย การแยกตัวจากสังคมและกิจกรรมต่างๆ ความต้องการทางเพศลดลง และมีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย โรคนอนไม่หลับ (insomnia) เป็นลักษณะหนึ่งของการซึมเศร้า โดยทั่วไปจะตื่นนอนตอนเช้ามากและเมื่อต้องการนอนหลับก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งโรคนอนหลับมากเกินไป (hypersomnia) ก็เป็นอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ลักษณะทางกายภาพ เช่น เหนื่อยง่าย ปวดหัว หรือมีปัญหาทางระบบย่อยอาหาร ความอยากทานอาหารลดลงทำให้น้ำหนักลดลง ซึ่งถึงการกินอาหารมากเกินไปและน้ำหนักขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ในบางราย คนใกล้ตัวสามารถสังเกตเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้ป่วยมีลักษณะอาการร้อนรนหรือเอื่อยเฉื่อย (agitated or lethargic) ทั้งนี้ผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพใจควบคู่กัน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพจิต สร้างภูมิคุ้มกันวัคซีนใจ ร่วมค้นหาศักยภาพของคุณ และสนับสนุนให้บุคคลก้าวไปสู่ความสำเร็จ ทางศูนย์ฯยังมุ่งเน้นการให้บริการวินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ ตามหลัก Recovery Oriented Services (ROS) ด้วยกระบวนการการรักษาและกิจกรรมหลากหลายที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ และศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมจิตแพทย์และบุคลากรเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต
“เราสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช และให้ความสำคัญกับครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยผ่านโปรแกรม Consumer and Carer Consultation และ Community and Family Reintegration ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถฟื้นคืนสู่ศักยภาพเดิมให้มากที่สุด กลับคืนสู่ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข เพราะสุขภาพกายที่ดีต้องเริ่มต้นที่ใจ ดังนั้นเราหมั่นดูแลจิตใจให้แข็งแรง บริหารจิตให้แจ่มใสอย่างสม่ำเสมอด้วย ” ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพกล่าว