กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัสเซียประกาศงดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กรณีที่อียูและสหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย จากกรณีความขัดแย้งเรื่องดินแดนในยูเครน ด้วยการห้ามนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมู ปลา สัตว์ปีก นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้ทั้งหมดจากสหรัฐฯ และอียู รวมถึงออสเตรเลีย แคนนาดา และนอร์เวย์ โดยมีผลทันทีและเป็นระยะเวลา 1 ปีนั้น ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรไปยังรัสเซียเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงสินค้าเกษตรและอาหารที่รัสเซียห้ามนำเข้าจากสหรัฐฯ และอียู พบว่า ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารหลายชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไปยังรัสเซียอยู่แล้ว เช่น เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาแห้ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปรัสเซีย ในช่วงปี 2554-2556 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท/ปี สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังรัสเซียในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2557 มีสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น คือ สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่ม
ขณะที่รัสเซียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากอียู คิดเป็นมูลค่า 11,864 ล้านยูโร หรือประมาณ 15,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 37 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมดของรัสเซีย ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกมากที่สุด รองลงมาคือ ถั่วเหลืองแข็งต่าง ๆ ถั่วเหลือง และสัตว์มีชีวิต ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในสินค้าผักและผลไม้ของอียู และเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับ 2 ของเนื้อสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นผู้บริโภครายใหญ่รายหนึ่งของโลกในด้านเนื้อปลา เนื้อสัตว์ และอาหารนม
อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออก กระทรวงเกษตรฯ จะประสานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศ จัดทำคู่มือเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัสเซียในการนำเข้าสินค้า เนื่องจากประเทศไทยยังขาดความรู้ความชำนาญเรื่องระบบตลาดของรัสเซีย และด้านกฎระเบียบที่ในแต่ละรัฐของรัสเซียที่มีความแตกต่างกัน รวมไปถึงปัญหาอุปสรรคด้านภาษา ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังรัสเซียจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ราย เพื่อให้ผู้ประกอบการจากประเทศไทยสามารถไปศึกษาขั้นตอนและวิธีการนำเข้า และมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศรัสเซียเพิ่มมากขึ้น