กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--Brand Now
ร้านราเมงชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นเปิดตัวเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยในห้างสรรพสินค้าสุดหรู เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 โดยไม่เพียงแต่จะนำเสนอรสชาติราเมงที่สุดยอดเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการบริการที่เป็นเลิศและความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด
อิปปุโดะเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1985 ในเมืองฮากาตะ (ฟูกุโอกะ) ที่ถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงของราเมง โดยชิกามิ คาวาฮารา ผู้ได้รับสมยานามว่าเป็นราชาแห่งราเมง มีลูกค้ามากมายต่างเข้าแถวกันอย่างใจเย็นเพื่อที่จะได้ลิ้มลองน้ำซุปกระดูกหมู (ทงคตสึ) รสนุ่มละมุนลิ้นอันเลื่องชื่อซึ่งเข้ากันได้ดีกับเส้นราเมงเหนียวนุ่มทำเองสูตรเฉพาะของอิปปุโดะ อิปปุโดะนั้นมีมากกว่า 80 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และมากกว่า 40 สาขาทั่วโลกในหลายๆ ประเทศ เช่น นิวยอร์ค, ซิดนีย์, ฮ่องกง สิงคโปร์, ไต้หวัน, โซล, เซี่ยงไฮ้, กัวลาลัมเปอร์, กวางเจา, เซินเจิ้น, ปักกิ่งและเฉินตู เป็นต้น
ทุกครั้งที่เข้าสู่ตลาดใหม่ ทางอิปปุโดะให้ความสำคัญมากในเรื่องการบริหารจัดการร้านให้เป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่หรือวัตถุดิบที่ใช้ คุณโทโมะยูกิ ยามาเนะ ผู้บริหารของชิการะโนโมโตะซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอิปปุโดะ ได้ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วทางบริษัทจะทำการสำรวจสถานที่ถึง 30-40 ที่ ก่อนจะตัดสินใจเลือกสถานที่ที่เหมาะสมของแต่ละสาขา
“เรากวดขันทุกสิ่งอย่างเข้มงวด เพราะเราจริงจังมากในเรื่องของคุณภาพ, การบริการ, การทำงานและการออกแบบ เรามีมาตรฐานในแบบของเราเองและได้รับความร่วมมือที่ดีจากหุ้นส่วนจากประเทศไทยด้วย”
สาขาแรกในต่างประเทศของอิปปุโดะคือสาขาที่นิวยอร์ค คุณยามาเนะอธิบายว่า เพราะนิวยอร์คเต็มไปด้วยร้านอาหารจากนานาชาติมากมาย ซึ่งก็หมายความว่าเต็มไปด้วยความท้าทายด้วย “เมืองนี้ยังเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทุกคนไปที่นั่นเพื่อสัมผัสกับเทรนด์และแฟชั่นใหม่ๆ”
เมื่อสาขาที่ต่างประเทศประสบความสำเร็จ อิปปุโดะก็ตัดสินใจเปิดสาขาในทวีปเอเชีย
“ตอนนั้นเราอยู่ในชวงทดลองตลาดในการบริหารธุรกิจของเราในสาขาต่างประเทศ เพราะเราก็ไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่” คุณยามาเนะกล่าว “แต่พอในปี ค.ศ. 2011 เราก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยการเปิดตัวที่สิงคโปร์ ตามด้วยเกาหลีใต้และฮ่องกง และยังมีอีกหลายประเทศรอบๆที่ต้องการให้เราเข้าไปเปิดสาขาใหม่ เห็นได้ชัดว่าการตลาดของเราได้ผล และผู้คนก็รู้จักเรากันมากขึ้น”
หลังจากที่เปิดตัวในประเทศมาเลเซียในปีที่แล้ว ทางบริษัทได้ตัดสินใจเปิดสาขาในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องอาหารที่หลากหลาย “เราทราบว่าการเปิดร้านอาหารอิปปุโดะในประเทศไทยจะไม่เป็นเรื่องง่ายแน่ๆ เพราะที่นี่มีอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวหลายชนิดอยู่แล้ว แต่เราก็ยังรู้ว่าคนไทยชอบทานอาหารอร่อยๆและอาหารญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยม เราจึงเล็งเห็นศักยภาพในตลาดของอิปปุโดะ”
ทางบริษัทได้ลงทุนไปหลายสิบล้านบาท ซึ่งรวมถึงการเปิดร้านและกลยุทธ์ทางการตลาดในการทำการค้าและการวางแผนเพื่อการขยายตัวไปในจังหวัดอื่นๆของประเทศไทยในอนาคต ร้านอิปปุโดะในกรุงเทพมีพื้นที่ 278 ตารางเมตร และสามารถรองรับลูกค้าได้ 96 ท่าน
บริษัท อิปปุโดะ ประเทศไทย จำกัด เปิดขึ้นเพื่อบริหารจัดการอิปปุโดะสาขานี้โดยเฉพาะ
คุณยามาเนะกล่าวว่า พวกเขามองหาโอกาสและสถานที่ที่เหมาะแก่การขยายสาขาตลอดเวลา แต่เรื่องตรงนั้นก็ต้องมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก “หลังจากเปิดร้านที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่แล้ว เราอยากจะขยายสาขาในกรุงเทพฯอีกสัก 3-5 สาขา ก่อนจะเข้าไปลองตลาดในจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต เป็นต้น แต่จำนวนสาขาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา แต่เป็นจำนวนลูกค้าที่เข้ามาและกลับมาทานอาหารของเรามากกว่า”
คุณยามาเนะยังให้สัมภาษณ์เพิ่มด้วยว่า อิปปุโดะได้วางเป้าหมายจะขยายตัวไปในเมืองอื่นๆทั่วโลก เช่น มะนิลา, จาการ์ต้า, ลอนดอน และสาขาที่สองในซิดนีย์
ปัจจุบัน อิปปุโดะได้ขยายสาขาไปทั่วญี่ปุ่นกว่า 80 สาขาและทั่วโลกอีก 40 สาขา ทั้งในนิวยอร์ค, ซิดนีย์, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, , โซล, เซี่ยงไฮ้, กัวลาลัมเปอร์, กวางเจา, เซินเจิ้น, ปักกิ่งและเฉินตู ซึ่งปัจุบันอิปปุโดะนั้นได้รองรับลูกค้ากว่า 45,000 ท่าน ต่อวันเลยทีเดียว
คุณโนบุโตชิ ทาคาฮาชิ ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายปฏิบัติการได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลร้านอาหารอิปปุโดะในประเทศไทย เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน คุณทาคาฮาชิเข้ามาทำงานกับอิปปุโดะในปี ค.ศ. 2011 และเคยทำงานทั้งในสาขาโยโกฮาม่าและโอซาก้ามาแล้ว เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกค้าในประเทศไทยจะได้รับประสบการณ์การรับประทานอาหารที่เป็นที่น่าจดจำ ด้วยการบริการและคุณภาพอาหารที่เป็นเลิศ
“สำหรับประเทศไทยแล้ว เราปรับเปลี่ยนวิธีปรุงอาหารเล็กน้อยเพื่อให้ถูกปากคนไทย อย่างที่เราทำในสาขาอื่นๆ” เขากล่าว และยังเสริมอีกว่าจะใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คอนเซปต์ของอิปปุโดะที่นี่คือความมีชีวิตชีวา หรือใน “เกงกิ” ภาษาญี่ปุ่น “บริเวณครัวเปิดจะค่อนข้างเสียงดัง เพราะพนักงานต้องพูดคุยสื่อสารกัน เพราะเราเห็นว่าร้านอาหารนี้ก็เป็นเหมือนเวทีการแสดง ประสบการณ์การทานอาหารไม่ได้สำคัญที่อาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบทุกอย่างในร้านอีกด้วย”