กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กรมอุทยานแห่งชาติฯ
กรมอุทยานฯ เปิดโครงการ “ปลูกป่าได้แผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา) 12 สิงหาคม 2557 และโครงการฟื้นฟูพื้นที่คืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน ณ หาดทรายแก้ว บ้านท่าฉัตรไชย หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่หาดทรายแก้ว บ้านท่าฉัตรไชย หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรมที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องดันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) กองทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานทหาร ตำรวจเปิดโครงการ “ปลูกป่าได้แผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา) 12 สิงหาคม 2557 และโครงการฟื้นฟูพื้นที่คืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน
นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯจัด โครงการ “ปลูกป่าได้แผ่นดิน” เฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา) 12 สิงหาคม 2557 และโครงการฟื้นฟูพื้นที่คืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 – 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดยุทธการทวงคืนพื้นที่ป่าไปแล้วและได้มีการแจ้งความจับกุมผู้บุกรุกรวมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่หาดไนยาง หาดในทอนและหาดทรายแก้ว ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อทวงคืนทรัพยากรของประเทศกลับคืนมารวมทั้งเป็นการคืนธรรมชาติให้ประชาชน โดยความคืบหน้า กรมอุทยานฯ คัดค้านเอกสารสิทธิที่ดิน จำนวน 3 แปลงที่ออกโดยมิชอบและได้แจ้งความดำเนินคดีกับน.ส.อโนมา ฝางเสน เนื้อที่ 96 ไร่เศษ นายจันทร์ พงษ์พา เนื้อที่ 80 ไร่เศษ และนายนคร วงษ์สีทอง เนื้อที่ 80 ไร่เศษ รวมพื้นที่ 256 ไร่เศษ ที่สำคัญจากการทำงานร่วมกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ปรากฎว่า กรมที่ดินจะคืนที่ดินจำนวนกว่า 400 ไร่ ที่มีการขอออกโฉนดจากทั้งหมด 379 แปลงให้กรมอุทยานฯ หลังตรวจสอบพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง มูลค่าที่ดินรวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กำลังตรวจสอบการออกโฉนดเพิ่มอีก 3 แปลง ของ น.ส.ธารา ศรีชาย เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งานเศษ นายจรินทร์ ปรีดาศักดิ์ เนื้อที่ 1 ไร่เศษ และนายขจร จันทรึก เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งานเศษ ซึ่งถ้าไม่ถูกต้องกรมอุทยานฯจะยึดคืนทั้งหมด
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ ผลจากการทวงคืนพื้นที่อุทยานฯสิรินาถ ได้รับการตอบรับดีมาก เนื่องจากที่ราษฎร์ จำนวนมากที่ครอบครองพื้นที่ในอุทยานฯ สิรินาถ แจ้งความประสงค์ขอคืนพื้นที่ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขอสละการใช้ประโยชน์และไม่ขอพิสูจน์สิทธิการครอบครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย.2541 ใน ต.สาคู และ ต.เชิงทะเล อ.ถลางขณะนี้ กรมอุทยานฯ ได้มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินที่มีการคืนมาแล้ว กว่า 100 ไร่ จากเจ้าของเดิน 10 ราย คือ นายเกิน เรืองเดช นายบุญเลิศ ทักษ์พิทง นายประนิม สืบประสิทธิ์ นายทรงพล พันธ์ช่วย นายประมวล ลีลาสนนท์ นายวัชระ ภักดีใหม่ นายวินิจ กุลวรรัตน์ นายจุฑา พรหมชัน นางศิรินทร์ มณีนุตร์และนายเชิดชัย สืบประสิทธิ์ โดยกรมอุทยานฯ จะมอบโล่เกียรติคุณแก่ประชาชนที่คืนพื้นที่ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผืนแผ่นดิน จากนี้ จะออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้คืนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องให้กับอุทยานฯ ด้วยซึ่งตนเข้าใจว่าการทำงานของกรมอุทยานฯ ไม่ง่าย เพราะราคาที่ดินในอุทยานฯ สิรินาถ มหาศาล
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า กรมอุทยานฯ ยังดำเนินการฟื้นฟูชายหาด หลังจากที่กรมอุทยานฯ ได้เข้ารื้อถอนที่หาดทรายแก้ว หาดในยางและหาดในทอนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ระบุว่าเมื่อมีการรื้อถอนแล้วต้องมีการฟื้นฟู โดยจะมีการฟื้นฟูชายหาดตลอดแนวอุทยานฯ สิรินาถ เพิ่มเติมให้ได้ 300 ไร่และฟื้นฟูในพื้นที่ป่าตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 อีก 300 ไร่ โดยจะดำเนินการปูลกต้นไม้ป่าชายหา จำนวน 3,000 ต้น ประกอบด้วยสนทะเล 2,000 ต้น เคยทะเล 500 ต้น ต้นจิกทะเล 500 ต้น
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญ ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการร่วมแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ตามโครงการ “ปลูกป่าได้แผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82พรรษา) 12 สิงหาคม 2557 และโครงการฟื้นฟูคืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน โดยการปลูกต้นไม้ป่าชายหาด ปรับสภาพพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ที่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งจัดเก็บขยะในบริเวณชายหาดแห่งนี้ เพื่อรักษาทรัพยากรธรราติที่มีอยู่ให้ใช้ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป