กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดโครงการฝึกอบรม "ฮอนด้า เรียนรู้ พร้อมสู้ภัยพิบัติ" สานต่อพันธกิจเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเป็นปีที่สอง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติแก่พนักงานกลุ่มบริษัทฮอนด้าประเทศไทย พร้อมการฝึกภาคปฏิบัติในการปฐมพยาบาล การฟื้นคืนชีวิต และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง
นางอรนุช พฤกษ์วัฒนานนท์ กรรมการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า "เราไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าภัยพิบัติธรรมชาติจะเกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไหน รุนแรงอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน คือ การมีสติและความรู้ในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้
กองทุนฯ จึงได้เดินหน้าปฏิบัติหนึ่งในภารกิจสำคัญคือ ด้านการส่งเสริมความรู้ ผ่านโครงการฮอนด้า เรียนรู้ พร้อมสู้ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติแก่พนักงานอาสาสมัครในกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยให้ได้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องในการเอาชีวิตรอด และสามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังมุ่งมั่นขยายภารกิจนี้ไปสู่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น จังหวัด น่าน ลำพูน เชียงราย เป็นต้น
นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยหลัก "หมอบ ป้อง เกาะ" และเทคนิคสร้างพื้นที่สามเหลี่ยมแห่งชีวิต พร้อม 12 เคล็ดลับเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในอาคาร ได้แก่ 1. มีสติ ไม่หวั่นไหว 2. ตัดไฟ ปิดวาล์วน้ำ ถังก๊าซ 3. ตรวจสอบความปลอดภัยของบ้าน ยึดตรึงอุปกรณ์ของใช้ขนาดใหญ่ให้มั่นคง 4. เปิดประตูค้างไว้ 5. อยู่ห่างจากหน้าต่าง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจตกใส่ได้ 6. ไม่รีบวิ่งออกจากอาคารในทันที 7. ห้ามก่อประกายไฟ 8. งดใช้โทรศัพท์มือถือ 9. งดใช้ลิฟท์ 10. อพยพจากอาคารสูง 11. สวมรองเท้าเมื่อออกจากอาคารหลังแผ่นดินไหวหยุด 12. ห้ามกลับเข้าไปในจุดเกิดเหตุโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้
อาจารย์กัญจนา เมืองสาคร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ วิทยากรพิเศษจากโรงพยาบาลราชวิถี
นำทีมผู้เชี่ยวชาญ ฝึกการปฐมพยาบาล การฟื้นคืนชีพ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
การฝึกการยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือผู้ประสบภัยรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกวิธี เช่น การยกหรือเคลื่อนย้ายโดยใช้ผู้ช่วยเหลือหลายคน และการเคลื่อนย้ายโดยใช้อุปกรณ์ช่วย เพื่อเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอด ปลอดภัย ลดความพิการหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง