Bangkok--27 Aug--PROW PR
วงเวียนไม้สีหม่น วางอยู่ข้างปากกาเขียนแบบสีเงินยวง ที่กาลเวลาทำให้ความสดใสหมองลงไป ซ้ายมือคือไม้สเกล ไม้ที กระดาษไขที่เต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้งาน บนโต๊ะเขียนแบบตัวถัดไปด้านซ้ายคือแบบร่างของเรือนไทยอันดูงดงามอ่อนช้อย ที่วางเคียงข้างแบบร่างตึกสูงในสไตล์โมเดิร์นเก๋ไก๋
ยังมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆอีกมากมายที่จัดแสดงอยู่บนโต๊ะไม้ในนิทรรศการ “๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง” ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องมือเก่าๆที่ถ้ามองเผินๆคงไม่เข้าใจว่าจะนำมาจัดแสดงทำไม แต่เครื่องมือเหล่านี้เอง ที่สร้างอาคาร สถานที่ ตึกรามต่างๆซึ่งล้วนเป็นสถานที่สำคัญและมีความหมายทั้งในเชิงสังคมและประวัติศาสตร์มานักต่อนัก เพราะเป็นเครื่องมือที่ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาสถาปนิกทั้ง 17 ท่านใช้งานจริงในสาขาต่างๆ อาทิ สถาปนิกชุมชน, สถาปนิกภูมิทัศน์ ,สถาปัตยกรรมแบบประเพณีฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทย
๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง จึงเป็นนิทรรศการที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นในวาระครบรอบ 80 ปีของสมาคมฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานของสถาปนิกที่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการสถาปัตยกรรมของชาติสู่สาธารณชน
โดยนิทรรศการ ๑๗|๘๐ จาก|เส้น|สู่|สร้าง นอกจากจะแสดงผลงานจำลอง และเครื่องมือด้านสถาปนิกของ 17 ศิลปินแห่งชาติอย่าง ศ.พล.ร.ค.สมภพ ภิรมย์ , ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี , ดร.ประเวศ ลิมปรังษี, รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี, พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น, รศ.ฤทัย ใจจงรัก, เมธา บุนนาค, ธีรพล นิยม, ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, นิธิ สถาปิตานนท์, จุลทัศน์ กิติบุตร, ศ.(กิตติคุณ), ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, องอาจ สาครพันธุ์, ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ, วนิดา พึ่งสุนทร, ศ.(กิตติคุณ), เดชา บุญค้ำ และ เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ซึ่งแต่ละท่านเป็นผู้ได้ริเริ่ม ส่งเสริม และพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมให้เจริญก้าวหน้าและสร้างประโยชน์ต่อสังคมจนถึงทุกวันนี้ ให้ได้ร้องว้าวกันแล้วนั้น
ที่สำคัญยังมีจัดแสดงในรูปแบบของ Photo Exhibition เน้นการนำเสนอผลงานผ่านปรัชญา แนวคิด รวมไปถึงทัศนคติต่างๆ เกี่ยวกับวงการสถาปัตยกรรมไทยอีกด้วย
อาทิ “การทํางานด้วยทำด้วยใจรัก แม้จะไม่มีใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสําเร็จนั้นจะประจักษ์พยานที่มั่นคง คนโดยมากไม่คอยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบรูณ์ไมได้” (วนิดา พึ่งสุนทร)
“การอนุรักษ์และส่งเสริมลักษณะไทยไม่ใช่การเลียนแบบหรือลอกวัฒนธรรมตกทอดโดยตรง รอยยิ้ม ความสงบ เบิกบานของชาวพุทธ ความร่มเย็น ความเมตตา กรุณา อเบกขา ฯลฯ เป็นลักษณะไทยที่มีความหมายลึกซึ้งสําหรับคนไทย จึงควรนํามาใช้สนับสนุนแนวคิดในการศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะและสถาปัตยกรรมของเรา” (เมธา บุนนาค)
ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง
งานจัดแสดงที่รอบโถงชั้น 3-5 ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร