กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันนี้ (26 สิงหาคม 25557) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุของปัญหาทั้งในด้านสินเชื่อและศักยภาพการหารายได้ โดยจะให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านองค์กรการเงินชุมชนที่เข้มแข็งและมีศักยภาพควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พร้อมทั้งสร้างกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงการสร้างกลไกในการพัฒนาและฟื้นฟูเพื่อให้ลูกหนี้มีศักยภาพในการหารายได้และป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคประชาชนทั้งหนี้สินในระบบและหนี้สินนอกระบบของประชาชนในพื้นที่และดำเนินการประสานกับกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่กระทรวงการคลังวางไว้โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
โดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งในเบื้องต้นมีองค์กรการเงินชุมชนจำนวน 47 แห่ง ประสงค์เข้าร่วมโครงการ และมีธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนในด้านการประสานงาน วิชาการ และเงินทุน
ในระยะต่อไปกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคัดเลือกองค์กรการเงินชุมชนจำนวนหนึ่งจากองค์กรการเงินชุมชนข้างต้นสำหรับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. จัดตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภารกิจหนึ่งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
สำหรับการสร้างกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ และการสร้างกลไกในการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีศักยภาพในการหารายได้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังหรือรองปลัดกระทรวงการคลังที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้นอกระบบและลูกหนี้ รวมถึงการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ สำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. มีกลไกในการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ เช่น ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. และโครงการพัฒนาอาชีพของธนาคารออมสิน นอกจากนี้ จะมีคณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีผู้แทนกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามผลการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของลูกหนี้และดำเนินงานในด้านการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ไม่สามารถผลักดันให้ตนเองหลุดพ้นจากปัญหาหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวเป็นการดำเนินการในขั้นแรก หากผลการดำเนินการมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่ดี กระทรวงการคลังจะเดินหน้าผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบในชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนจะช่วยให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบสามารถเลือกช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ การจัดให้มีกลไกในการเจรจาประนอมหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรมจะลดภาระด้านดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกหนี้นอกระบบ รวมทั้งการสร้างกลไกในการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพในการหารายได้จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก อีกทั้งการดึงองค์กรการเงินชุมชนซึ่งมีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับสมาชิกเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจะทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน