กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค ประชุมปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอดีตผู้บริหารกรมควบคุมโรค สรุปบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่ผ่านมา เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เพื่อใช้ประโยชน์ในการเตรียมพร้อมป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในไทย ย้ำโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อทางการสัมผัสเลือดน้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รู้สถานการณ์และมีความเข้าใจที่ถูกต้องถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดประชุมปรึกษาหารือ ระดมสมอง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อดีตอธิบดีและผู้บริหารกรมควบคุมโรค ได้แก่ นายแพทย์สมทรง รักเผ่า นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ นายแพทย์กิตติ กิตติอำพน และนายแพทย์ศิริศักด์ วรินทราวาทเพื่อสรุปบทเรียนและประสบการณ์จากการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่ผ่านมา เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เพื่อมานำเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในไทย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า จากวิกฤติการณ์การเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ใน 4 ประเทศ คือ ประเทศกินี ประเทศไลบีเรีย ประเทศเซียร์ราลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - 22 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลา 2,615 ราย และเสียชีวิต 1,427 ราย ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ผู้คนทั่วโลก ซึ่งได้รับข้อเสนอแนะที่เน้นย้ำ 4 มาตรการหลักที่กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการแล้ว ตามคำสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1. การจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินต่างๆ โรงพยาบาล และในชุมชน 2. การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล 3. การจัดการองค์ความรู้ และ 4. การบริหารจัดการ เช่น การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน การสนับสนุนสื่อความรู้ต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงสื่อมวลชนและประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและลดตระหนก เป็นต้น
เชื้ออีโบลา เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง อัตราการแพร่ระบาดสูงและเร็ว มีอัตราตายร้อยละ 50-90 เมื่อได้รับเชื้อโรคนี้จะปรากฏอาการ 2-21 วัน โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อทางการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรง หรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย โดยมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวายมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่
"สำหรับประเทศไทยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลายังมาไม่ถึง และกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ ผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงขอให้งดหรือชะลอไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะดีขึ้น ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th และสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นพ.โสภณ กล่าวปิดท้าย