กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนา “พัฒนาคน พัฒนางาน..พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน” ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม 2557 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ (GH 201 - 202) ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ร่วมพัฒนายกระดับแรงงาน และเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC
นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2554 และปี 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมฯ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และวิธีการทดสอบมาตรฐาน เป็นจำนวนที่มากถึง 44 สาขาอาชีพได้สำเร็จ ถือเป็นมิติใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ได้พัฒนากระบวนการในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ สอดคล้องกับการจ้างงานจริงในอุตสาหกรรม มีการนำไปใช้ในการทดสอบรับรองพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนตามระดับมาตรฐานที่กำหนด โดยขณะนี้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายสมพงศ์ กล่าวว่า จากผลงานและความร่วมมือดังกล่าว ทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมฯ อีกครั้ง ในการดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มอีก 44 สาขาอาชีพ ซึ่งจะได้นำเสนอร่างมาตรฐานดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากภาคประกอบการ ภาครัฐ ภาคการศึกษา สมาคม องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 500 คน พร้อมกันทั้ง 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
“จากการเดินทางไปศึกษาระบบการรับรองความสามารถของบุคคลในประเทศชั้นนำหลายประเทศที่มีระบบดีๆ ทำให้ตนเองเกิดความคิดและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด
จนปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือความจริง ที่เจ้าของอาชีพมีความเข้มแข็ง ร่วมกันกำหนดความต้องการกำลังคนของตนเอง โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญ และถูกทิศทาง โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้หารือถึงแผนงานและแนวทางในอนาคตไว้แล้วว่า งานนี้ต้องขยายผลและดำเนินการไปจนครบทุกอุตสาหกรรม และครบทุกกระบวนการของการรับรองความสามารถของคน ทั้งในเรื่องของการยกร่างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการนำมาตรฐานไปใช้ในการฝึกอบรม ทดสอบและรับรองฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานเข้าใหม่ และแรงงานในสถานประกอบการ รวมถึงใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเส้นทางอาชีพ และกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานต่อไป” นายสมพงศ์ กล่าว
ด้าน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความยั่งยืน เพราะเมื่อผู้ประกอบกิจการมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือกำหนดกรอบความรู้ความสามารถ และสมรรถนะของงานในแต่ละตำแหน่งแล้วย่อมสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคน คือกำหนดกรอบความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของบุคคลที่จะรับเข้าทำงาน และคัดเลือกบุคลากรได้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ
กระทรวงแรงงานมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศประเทศ สู่ระดับโลก โดยดำเนินการผ่านระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานและค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งมีแนวทางดำเนินการดังนี้
1. พัฒนาและขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบกิจการด้วยระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเร่งสร้างระบบประเมินและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยการใช้หลักการประเมิน (Competency) ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ระบบการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทน ส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ
2. สร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาและการพัฒนาแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการสนับสนุนให้สมาคม/องค์กรวิชาชีพ มีความเข้มแข็งเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและรับรองคุณภาพควบคุมจรรยาบรรณในการทำงานของแรงงานในสายอาชีพนั้นๆ
3. พัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบกิจการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการไทยรองรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับภูมิภาค และนานาชาติ โดยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของแรงงานและผู้ประกอบกิจการให้มีความรู้ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยให้แรงงานและผู้ประกอบกิจการสามารถเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจทั้งภายใน และต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้แรงงานมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น