กรุงเทพ--16 เม.ย.--ทีดีอาร์ไอ
อานันท์ ปันยารชุน เปิดตัวให้สัมภาษณ์หนุนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจชี้ทุกฝ่ายควรหันหน้าเจรจา เพื่อหาข้อยุติย้ำการแปรสภาพจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นพร้อมระบุรัฐบาลต้องจัดตั้งองค์กรอิสระควบคุมดูแลประโยชน์ของชาติ
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ให้ความเห็นถึงการแปรสภาพรัฐ-วิสาหกิจว่า การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยมากโดยการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นเรื่องที่ได้มีการดำเนินการมานานกว่า 15 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและลดภาระการลงทุนอย่างมหาศาลจากภาครัฐบาล เพราะกิจการรัฐวิสาหกิจต่างๆต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนแต่ละโครงการซึ่งมีมูลค่าสูงมากแต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินรัฐต้องมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเข้ามา และการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจให้เอกชนดำเนินการแทนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจไม่เว้นแม้แต่ประเทศอินเดียและประเทศจีน และการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เป็นการขายทิ้งกิจการรัฐวิสาหกิจให้ต่างประเทศแต่การกระทำทุกอย่างต้องมีมาตรการมารองรับและอยู่ในหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสม
นายอานันท์ กล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนไทยหรือต่างชาติ แต่ปัญหาในขณะนี้ก็คือประเทศไทยไม่มีเม็ดเงินที่จะดำเนินการได้และการลงทุนโดยคนไทยก็ไม่ได้ทำให้เม็ดเงินใหม่เข้ามาประเทศการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจควรเร่งดำเนินการไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือไม่ อาทิ โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปาเพราะการดำเนินการโดยเอกชนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานในระบบราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทั่วโลกแต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้ามากำกับดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
ส่วนการคัดค้านการแปรรูป กฟผ.ของพนักงาน กฟผ.นั้นนายอานันท์กล่าวให้ความเห็นว่า จริงๆแล้วทั้งในส่วนของรัฐบาลและพนักงานกฟผ.ต่างก็มีจุดยืนร่วมกันอยู่ ในเรื่องการแปรสภาพแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของ"วิธีการแปรสภาพ"เท่านั้นซึ่งในส่วนของรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้กำหนดวิธีการที่แน่นอนลงไปว่าจะดำเนินการอย่างไร ดังนั้นพนักงานกฟผ.และรัฐบาลควรจะพูดคุยและปรึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสมและสามารถยอมรับได้ทั้งสอง ฝ่าย เพื่อหาข้อยุติโดยเร็วซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศได้--จบ--