กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุน โดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาดในพื้นที่อ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการราดน้ำส้มสายชู และห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น จากข้อมูลพบว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2541-2556 มีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษถึง 918 ราย มีอาการหนักจนถึงหมดสติหรือเสียชีวิต ที่มีรายงานอย่างน้อย 12 ราย
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวเด็กชายอายุ 5 ขวบ ชาวต่างชาติ ลงเล่นน้ำทะเลที่ชายหาดใน จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างนั้นถูกแมงกะพรุนพิษจนหมดสติทันที และเสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นพิษของแมงกะพรุนกล่อง และจากข้อมูลย้อนหลังพบว่า ในประเทศไทย ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2541-2556) มีรายงานนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษขณะเที่ยวชายทะเลในประเทศไทย จากการวิจัย โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากแมงกะพรุนพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ถึง พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 918 คน ซึ่งมีทั้งชาวไทย และต่างชาติ ส่วนที่มีอาการหนักจนถึงหมดสติหรือเสียชีวิต พบว่า มีรายงานอย่างน้อย 12 ราย ซึ่งอาการเข้าได้กับแมงกะพรุนพิษชนิดที่เรียกว่าแมงกะพรุนกล่อง โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมักเป็นบริเวณที่สอดคล้องกับแหล่งที่พบแมงกะพรุนกล่อง คือ บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาดในพื้นที่อ่าวโค้งเว้า ซึ่งความรู้เรื่องแมงกะพรุนกล่องยังเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิชาการของประเทศไทยต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน และเผยแพร่ให้ทั้งนักวิชาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนให้รับรู้ในวงกว้าง
นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ลักษณะของแมงกะพรุนกล่อง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์จึงได้ชื่อว่า แมงกะพรุนกล่อง มีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร สามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็วมาก และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที มีดวงตาที่มีประสิทธิภาพสูงเกาะกลุ่มกันอยู่รอบตัวสี่ทิศ มีหนวดบางๆ งอกออกมาถึง 15 เส้น สามารถยืดได้ไกลถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้น จะประกอบด้วยเซลล์พิษจำนวนมากกว่าล้านเซลล์ ทำให้แมงกะพรุนกล่อง เป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด พิษนี้สามารถ ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ พิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อพิษเข้าสู่ระบบประสาท จะกด
ระบบประสาททำให้หยุดหายใจ และยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลันแมงกะพรุนกล่องมักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายหาดในพื้นที่อ่าวโค้งเว้า ในช่วงที่คลื่นลมสงบ เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องมักจะหาเหยื่อพวกลูกกุ้ง ลูกปลาในพื้นที่ลักษณะนี้ เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม–เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่อง ได้แก่ 1.การสวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงทะเลในพื้นที่และฤดูกาลที่พบแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งวิธีการนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว 2.การติดตั้งตาข่ายในทะเลเพื่อกันแมงกะพรุนซึ่งจะทำบริเวณน้ำตื้นริมหาดและให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำในบริเวณที่กั้นตาข่ายนั้น และ 3.การให้มีจุดวางน้ำส้มสายชู และติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เป็นต้น ที่สำคัญนักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุน หรือบริเวณที่มีป้ายคำเตือน
“ส่วนขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยถูกแมงกะพรุน ควรช่วยได้โดยการ 1.เรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาล โทร 1669 แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง 2.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน 3.ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น 4.ราดน้ำส้มสายชูบริเวณที่มีร่องรอยจากการสัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วนานอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามราดด้วยน้ำจืดหรือน้ำเปล่าเพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น โดยใช้น้ำส้มสายชูที่มีจำหน่ายในการปรุงอาหารทั่วไป น้ำส้มสายชูมีฤทธิ์ในการระงับการยิงพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ การราดด้วยน้ำส้มสายชูจึงไม่ได้ลดอาการปวด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับพิษเพิ่มขึ้น และ 5.ถ้าหมดสติและไม่มีชีพจรให้ปั๊มหัวใจก่อน โดยไม่ต้องรอราดน้ำส้มสายชู หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร 0-2590-1779 หรือโทรสายด่วน 1422” นพ.โสภณ กล่าวปิดท้าย