กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์
อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีมาตรการการดำเนินการคัดกรองผู้เดินทางผ่านทางด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้งด่านทางอากาศ ด่านท่าเรือ และด่านทางบก เพื่อคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ผลการตรวจเยี่ยม ด่านมีความพร้อม และผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดโรคอีโบลาพอใจและเชื่อมั่นมาตรการเฝ้าระวังป้องกันของไทย ให้ความร่วมมือในการติดตามอาการป่วยขณะพำนักในไทย ผลการตรวจจนถึงวันนี้ รวมกว่า 844 คน ยังไม่พบรายใดมีไข้ การระบาดยังคงอยู่ในทวีปแอฟริกา
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมด่านทางน้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลก โดยการระบาดโรคยังอยู่ใน 4 ประเทศในทวีปแอฟริกาด้านตะวันตก ยังไม่มีการระบาดออกนอกทวีป สถานการณ์โรคอีโบลาทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2557 มีผู้ติดเชื้อ 3,069 ราย เสียชีวิต 1,552 ราย ใน 4 ประเทศ ดังนี้ กินี ป่วย 648 ราย เสียชีวิต 430 ราย ไลบีเรียป่วย 1,378 ราย เสียชีวิต 694 ราย เซียร์ร่า ลีโอน ป่วย 1,026 ราย เสียชีวิต 422 ราย ไนจีเรีย ป่วย 17 ราย เสียชีวิต 6 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 240 ราย เสียชีวิต 120 ราย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่าขณะนี้ประเทศไทยได้วางมาตรการเฝ้าระวัง ทั้งในคนและในสัตว์ ดำเนินการครอบคลุมทุกด่านทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางบก พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการดูแลผู้ป่วยและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างความมั่นใจของบุคลากรและประชาชนโดยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้ได้ตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ (Thermoscan) ตรวจวัดไข้ในผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จำนวน 5 เครื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยตั้งที่บริเวณขาเข้า 3 เครื่อง และที่จุดแวะต่อเครื่องไปประเทศอื่นอีก 2 เครื่อง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์บนเครื่องบินและทางสื่อมวลชนต่างๆ จนถึงวันนี้พบว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้เดินทางเป็นอย่างดี ทุกคนยินดีให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตาม ตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังต่อเนื่อง เป็นเวลา 21 วัน ตามระยะการฟักตัวของโรค ซึ่งหากเกิดมีผู้ป่วยขึ้น ก็จะสามารถค้นหาและควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที และจากการตรวจเยี่ยมด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ ได้กำชับมาตรการการเตรียมความพร้อม และการดำเนินงานการคัดกรองผู้เดินทาง เพราะจะช่วยในการควบคุมป้องกันโรคติดต่อต่างๆ รวมทั้งโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้ ซึ่งในการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ จะต้องปฏิบัติต่อผู้เดินทางโดยเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน และอิสรภาพพื้นฐาน และลดความไม่สะดวก ไม่สบายและความกังวลใจให้น้อยที่สุด ซึ่งจะรวมถึงการปฏิบัติต่อผู้เดินทางทุกคนด้วยความเอื้ออารี และให้เกียรติ เหมาะสม ต่อ เพศ วัฒนธรรมสังคม เชื้อชาติ และความเชื่อทางศาสนา และให้การรักษาทางการแพทย์ที่สมควร อุปกรณ์สื่อสาร และภาษาที่ผู้เดินทางเข้าใจ เป็นต้น
"การดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมทั้งการคัดกรองผู้เดินทางทั้งทางบก และทางเรือจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ไม่กระทบต่อการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศ แต่จะมีผลดีทำให้เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวม นอกจากนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สถานพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศ และผู้เดินทาง เน้นการสังเกตอาการป่วย เช่น มีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัวให้รีบไปพบแพทย์ และขอเน้นย้ำโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อทางการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่โทร 0 2590–3159, 3238 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" นพ.โสภณ กล่าวปิดท้าย