กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค
สนง.ใต้ร่มพระบารมี ร่วมกับ กฟผ. พัฒนา “หญ้าสายพันธุ์ 4190” และชุมชนต้นแบบโครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปัน ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล “พลังงานทดแทน” เริ่มปักกล้าต้นแรกเดือน ก.ย. นี้
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหญ้าสายพันธุ์ 4190 ภายใต้โครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิด “การเกษตรยุคใหม่และป่าหญ้าสายพันธุ์ 4190 คนพัฒนาป่า ป่าพัฒนาชุมชน” เพื่อเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นี้ ทั้งยังเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถึงความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดมาว่า สิ่งที่ทำให้พระองค์ท่านมีความสุข คือการเห็นประชาชนมีความสุข และสอดคล้องกับนโยบายคืนความสุขให้ประเทศไทย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
นายชัยรินทร์ นพเฉลิมโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานใต้ร่มพระบารมี กล่าวถึงชุมชนต้นแบบของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหญ้าสายพันธุ์ 4190 เป็นพลังงานทดแทน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายหลังทำพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เรียบร้อยแล้ว ว่า โครงการนี้นับเป็นพื้นที่ชุมชนการเกษตรต้นแบบแห่งแรกของโครงการฯ ที่ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งทางด้านพัฒนาพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ การประกอบอาชีพที่แข็งแรงและยั่งยืน เป็นต้น
โอกาสดังกล่าว นายชัยรินทร์ กล่าวอีกว่า “ความสำเร็จในโครงการดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นได้โดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญยิ่งคือ ต้องขอขอบคุณทางประเทศสาธารณประชาชนจีน ในฐานะผู้ให้สายพันธุ์หญ้า 4190 มาร่วมพัฒนาในประเทศไทย ศาสตราจารย์หลิน จันสี่ เจ้าของสิทธิบัตรหญ้าสายพันธุ์ 4190 และคุณรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล กรรมการโครงการฯและสาธารณรัฐประชาชนจีน”
ในฐานะที่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย พระองค์ทรงสอนให้คนรักป่า รักน้ำ รักดิน ที่สำคัญสอนให้คนรู้จักสามัคคี รู้จักแบ่งปัน แม้เห็นต่างกันก็ต้องอยู่ด้วยกันในชุมชน ดังนั้น สนง.ใต้ร่มพระบารมี จึงได้น้อมนำ “แนวคิด” ของพระองค์มาขยายผลสู่การปฏิบัติ ในสถานการณ์ที่พลังงานไทยกลายเป็นประเด็นสาธารณะนั้น ทำให้คณะกรรมการได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก โดยยึดโยง “ชุมชน” เป็นหลัก ภายใต้ยุทธวิธีโครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งวางเป้า 87 ชุมชนต้องให้เสร็จภายในปี 2559 และปี 2557 นี้ จะเร่งให้เกิดชุมชนต้นแบบ ซึ่งกำหนดไว้ในจังหวัด กาญจนบุรี ลำปาง และเชียงราย
รายละเอียดของโครงการนี้ได้วางชุมชนไว้ 87 แห่ง แต่ละชุมชนประมาณ 135 ครอบครัว มีที่ดินประมาณ 1,500 ไร่ ถูกพัฒนาเป็น 11 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่ชุมชนเกษตรต้นแบบ 2.พื้นที่โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ 3.พื้นที่สวนสาธารณะและป่าชุมชนเพื่อนันทนาการ 4.พื้นที่โครงการแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม 5.พื้นที่ศาลาใต้ร่มพระบารมีและพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 6.พื้นที่อาคารเอนกประสงค์และศูนย์เรียนรู้สำหรับชุมชน 7.พื้นที่ตลาดชุมชนและศูนย์กระจายสินค้าชุมชน 8. พื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน 9.พื้นที่โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด 10.พื้นที่โรงงานกำจัดขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และ 11.พื้นที่โรงงานไฟฟ้าชีวมวล
หญ้าสายพันธุ์ 4190 จากการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทนนี้ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบได้ 2 แบบ คือ แบบหญ้าสด เมื่อหญ้าเติบโตได้ระยะ 1 เดือนถึง 45 วัน สามารถเก็บเกี่ยวเป็นหญ้าสดป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว แบบหญ้าแห้ง โดยปลูกหญ้าให้หญ้าเติบโตในระยะ 120 วัน หรือ 4 เดือน ถึงจะเก็บเกี่ยวแล้วนำมาเข้าทำขบวนการลดความชื้นหรืออัดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดต่อไป
“การปลูกหญ้าสายพันธุ์ 4190 นี้ หากปลูกจำนวน 350-500 ไร่ สามารถป้อนโรงงานไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์สบายๆ ผลผลิตที่ได้ในระยะ 4 เดือน จะได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 75 ตัน ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อปีต่อไร่มากกว่าการทำการเกษตรบางอย่าง” เลขาธิการ สนง. ใต้ร่มพระบารมี กล่าว
ความมหัศจรรย์ของหญ้าสายพันธุ์ 4190 นี่ คือเป็นหญ้าที่สังเคราะห์แสงได้ดีมากทั้งๆที่ขาดน้ำและปุ๋ย ทางคณะทำงานได้นำไปทดลองปลูกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในดินที่แห้งแล้งและไม่ให้ปุ๋ยปรากฏว่า 3 เดือนขึ้นสูงกว่า 4 เมตร เมื่อตัดส่งเข้าห้องแลปสถาบัน SGS ได้ค่าความร้อน 4190 Kcal/Kg ก๊าซซัลเฟอร์ฯ เพียง 0.10% จึงไม่แปลกที่มองโกเลียเต็มไปด้วยทะเลทรายแห้งแล้ง ปลูกแล้วโต 6-7 เมตร แม้ในจีนประธานาธิบดีจีนสั่งให้ปลูกเลียบแม่น้ำเหลืองป้องกันดินถล่ม แสดงว่า หญ้าสายพันธุ์นี้รากยึดโยงดินได้ดี หลายประเทศที่เป็นทะเลทรายปลูกแล้วกลายเป็น “โอเอซิส” อย่างน่าทึ่ง
หญ้าสายพันธุ์ 4190 นี้ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการผสมผสานสายพันธุ์จากอ้อย ไผ่ และหญ้าสายพันธุ์เนเปียร์ จนกลายเป็นหญ้าแห่งพลังงานทดแทน หญ้าแห่งการพัฒนาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น อาหารสัตว์ เพาะเห็ด และการผลิตพลังงาน โดยสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ที่ให้พลังงงานสูงถึง 4,190 Kcal/Kg ซึ่งมากกว่าถ่านหิน และที่สำคัญ คือ มีค่าซัลเฟอร์ฯ เพียง 0.10% ไม่ทำให้เกิดมลภาวะต่ำสิ่งแวดล้อม และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศอย่างประเทศไทย โดยในการลงทุนปลูกหญ้าสายพันธ์ 4190 ต่อ 1 ครั้ง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 20 ปี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผลิตไบโอแก๊ซ ที่ใช้กับรถยนต์ได้อีกด้วย
นายสุนชัย คำนูญเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีนโยบายและแผนการดำเนินงานการผลิตไฟฟ้า ที่เน้นความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคง และให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐ
กฟผ. จึงเล็งเห็นความสำคัญการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าชนิดใหม่ๆ มาเป็นพลังงานทดแทนและเป็นพลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากการใช้พลังงานประเภทฟอสซิล พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะไม่กระทบต่อภาคประชาชนและชุมชนในแต่ละท้องถิ่น อันเป็นความร่วมมือกันใส่ใจดูแลสังคมให้เป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน
“โครงการพัฒนาหญ้าสายพันธุ์ 4190 ดังกล่าวนี้ จึงเป็นหนึ่งในโครงการโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่ กฟผ.กำลังดำเนินการอยู่ จะเริ่มลงมือปลูกต้นแรกได้ในกลางเดือนกันยายน 2557 นี้ ในชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า แม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยจะใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนเริ่มต้นที่จำนวน 9 เมกะวัตต์ต่อปี จากเนื้อที่โครงการทั้งหมด 4,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนหญ้าสายพันธุ์ 4190 เพื่อใช้ในกิจการของ กฟผ. ทั้งหมด ” ผู้ว่า กฟผ. กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานใต้ร่มพระบารมี
โครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปัน
โทร 02-2672600-7
ติดต่อคุณพิรุณ จิราฤดีอำไพ