กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน จะช่วยกระตุ้นอำนาจซื้อของผู้บริโภค และลดต้นทุนการขนส่งของภาคธุรกิจ
คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และทบทวนการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในกลุ่มเบนซิน ลดลง 3.89 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.13 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.70 บาทต่อลิตร E20 ลดลง 1 บาทต่อลิตร ส่วนE85 ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลถูกปรับสูงขึ้นเล็กน้อย 0.14 บาทต่อลิตร แต่ยังมีนโยบายคงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี วิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหลังการปรับโครงสร้างราคาในครั้งนี้ ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ผลต่อภาคครัวเรือน คาดว่าจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคประหยัดการใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันในการขนส่งประมาณ 32 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็น 11,855 ล้านบาท/ปี นั่นหมายถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 176 บาท/คน/ปี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จะส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.03 ต่อปี จากกรณีปกติหากไม่มีการปรับโครงสร้างพลังงาน
ส่วนต่อมา ผลต่อภาคธุรกิจ คาดว่าการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานของภาคธุรกิจลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 0.14 หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 820 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจได้รับผลดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากน้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซิน (สัดส่วนใช้น้ำมันดีเซลร้อยละ 73 น้ำมันเบนซินร้อยละ 27) โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์จะอยู่ในธุรกิจขนส่งที่เป็นขนาดย่อมเป็นส่วนใหญ่ เช่น บริการรับส่งเอกสาร บริการรถเช่า เป็นต้น
ทางด้าน ผลต่อภาครัฐ นั้น ประเมินว่า แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะลดลงจากการปรับโครงสร้างพลังงานใหม่ แต่ก็จะได้รับส่วนชดเชยจากการเก็บภาษีน้ำมันดีเซลที่มีสัดส่วนการใช้มากกว่า ทำให้คาดว่าภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลเพิ่มขึ้นประมาณ 6,800 ล้านบาท/ปี
เมื่อพิจารณาผลกระทบในภาพรวม จะพบว่า ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลประโยชน์จะเป็นภาคครัวเรือนที่จะมีค่าครองชีพลดลง มีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเองก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์น้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา มีเพียงภาคธุรกิจขนาดย่อมบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งหากภาครัฐสามารถผลักดันการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้ จะหนุนให้ภาคธุรกิจเข้มแข็งมากขึ้น