กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญต่อสุขภาพและอารมณ์ของประชากรไทยวัยทำงาน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ความนิยมการออกกำลังกายแบบ T25 ค่อนข้างมาก เพราะประหยัดเวลา พื้นที่ และงบประมาณ ดังนั้นศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส, อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาจึงร่วมแถลงผลสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการออกกำลังกายแบบ T25 ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สรุปผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,145 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.88 ขณะที่ร้อยละ 48.12 เป็นเพศชาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.66 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 ถึง 25 ปี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.93
ในด้านพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบ T25 กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.11 ระบุว่าตนเองเคยทดลองออกกำลังกายแบบ T25 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.89 ไม่เคย โดยที่สาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างเลือกออกกำลังกายแบบ T25 คือ ต้องการให้ร่างกายแข็งแรง คิดเป็นร้อยละ 85.6 ไม่มีเวลาออกกำลังกายแบบปกติ คิดเป็นร้อยละ 83.09 บุคคลใกล้ชิด/เพื่อนฝูงชักชวนให้เล่น คิดเป็นร้อยละ 79.26 ต้องการลดน้ำหนัก คิดเป็นร้อยละ 75.56 และเล่นตามแฟชั่น คิดเป็นร้อยละ 71.47
สำหรับความถี่ในการออกกำลังกายแบบ T25 นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ออกกำลังกายแบบ T25 โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ถึง 6 วันต่อสัปดาห์ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40.55 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.95 ออกประมาณ 2 ถึง 4 วันโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 44.39 นิยมออกกำลังกายแบบ T25 ช่วงเย็นหลังเลิกเรียนหรือเลิกงานมากที่สุด รองลงมานิยมออกช่วงค่ำหลังรับประทานอาหารมากที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25.1 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35.27 ระบุว่าปัจจุบันตนเองยังคงออกกำลังกายแบบ T25 ในปริมาณเท่าเดิม แต่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.61 ระบุว่าปัจจุบันตนเองออกกำลังกายแบบ T25 น้อยลงกว่าเดิม โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.66 ระบุว่าปัจจุบันตนเองไม่ได้ออกกำลังกายแบบ T25 แล้ว
ในด้านความคิดเห็นต่อการออกกำลังกายแบบ T25 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.37 มีความคิดเห็นว่าการออกกำลังกายแบบ T25 เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องตามหลักการออกกำลังกาย ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการออกกำลังกายแบบ T25 กับการออกกำลังกายแบบปกติทั่วไป กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.81 ระบุว่าการออกกำลังกายทั้งสองแบบให้ประโยชน์กับตนเองเท่า ๆ กัน