กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเปิดผลศึกษาและข้อมูลการลงทุนเชิงลึกในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ รวม 4 ประเทศ ได้แก่ เคนยา กานา แทนซาเนีย และเปรู หลังแนวโน้มอุตสาหกรรมของทั้ง 4 ประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นโอกาสไทยเข้าไปแสวงหาฐานการผลิตทั้งอุตสาหกรรมจากทรัพยากรธรรมชาติ และเกษตรแปรรูป
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานสัมมนานำเสนอผลการศึกษา “โอกาสลู่ทางและระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจในสาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐกานา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐเปรู” ว่า การส่งเสริมการลงทุนไทย ในต่างประเทศเป็นภารกิจสำคัญของบีโอไอ นอกเหนือจากส่งเสริมให้เกิดการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเป้าหมายแรก บีโอไอยังได้ดำเนินการศึกษาลู่ทางของการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปเจาะตลาดการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อให้นักลงทุนไทยใช้ประกอบการพิจารณาและแสวงหาฐานการผลิต ในต่างประเทศที่น่าสนใจเพิ่มเติม
ทั้งนี้ตามแผนการศึกษาลู่ทางการทำธุรกิจในกลุ่มตลาดการลงทุนใหม่ ปี 2557 บีโอไอได้คัดเลือกให้มีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม 4 ประเทศ ทั้งในแถบทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ได้แก่ สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐกานา สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐเปรู เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ ทั้งด้านเป็นตลาดการลงทุนที่กำลังขยายตัว มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ประกอบกับมีความอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ประเทศดังกล่าวได้รับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
“การนำเสนอผลศึกษาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทยที่ประสงค์ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เนื่องจากจะเน้นศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎระเบียบ ตลอดจนโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนในแต่ละประเทศว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจและให้ความสำคัญสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในอนาคตต่อไป” นายอุดมกล่าว
นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นักลงทุนไทยให้ความสนใจไปลงทุนในประเทศตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนไทยหลายสาขาเริ่มมีศักยภาพและความเข้มแข็งพอที่จะออกไปแข่งขันกับนักลงทุนชาติอื่น ๆได้ทั่วโลก
ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่า ในแต่ละประเทศมีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยอีกมาก ได้แก่ สาธารณรัฐเคนยา เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ และเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแอฟริกาตะวันออก ขณะเดียวกันสาธารณรัฐเคนยามีเครือข่ายการเชื่อมโยงการคมนาคมที่ดี มีท่าเรือสำคัญ และมีเส้นทางรถไฟและการบินเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มีทรัพยากรธรรมชาติด้านการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยในการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์เกษตร อาหารแปรรูป อัญมณี เป็นต้น
สำหรับสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย มีทรัพยากรมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประมง ก๊าชธรรมชาติ ทองคำ เพชร ถ่านหิน อัญมณี ดีบุก ฟอสเฟต ประกอบกับ รัฐบาลพยายามดึงการลงทุนจากต่างชาติโดยชักจูงการลงทุนในระบบสาธารณูปโภค เช่นการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ท่าเรือ โรงไฟฟ้า และต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจภาคเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงที่นักลงทุนไทยจะสามารถเข้าไปลงทุนได้
สาธารณรัฐกานา เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง เป็นศูนย์กลางการค้าในแอฟริกาตะวันตก โดยภาคเกษตรถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและรัฐบาลต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนให้มากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าครึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้มีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในกลุ่มต่างๆ อาทิ ธุรกิจประเภทธัญพืช การทำฟาร์มสัตว์ปีก สัตว์น้ำทะเล ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ เป็นต้น
ขณะที่การลงทุนในสาธารณรัฐเปรู เหมาะสำหรับการเป็นช่องทางกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ และเปรูมีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากร ทองคำ เหมืองแร่ และปิโตรเลียม รวมถึงรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาการแปรรูปสินค้าประมง ซึ่งเป็นโอกาสและเปิดกว้างสำหรับการลงทุนของไทยในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กิจการร้านอาหาร ธุรกิจบริการ ระบบสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น