Ground ช่วยชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday September 3, 2014 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมไฟฟ้า มจธ. แนะ การป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้ที่ดีที่สุด จะต้องติดตั้ง”สายดิน” และทำอย่างถูกหลักวิชาด้วยช่างไฟฟ้าเท่านั้น รวมถึงการใช้ “ปลั๊กไฟ” ควรเลือกปลั๊กไฟมาตรฐานที่ทำให้การเชื่อมต่อมีผลถึงสายดินเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดการกำหนดแบบมาตรฐานปลั๊กไฟทั้งเต้ารับและเต้าเสียบ บ่อยครั้งที่มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากกกระแสไฟฟ้าที่รั่วมากับเครื่องใช้ต่างๆ จนกระทั่งหลายครั้งมีอันตรายถึงชีวิต แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการย้อนกลับไปควบคุมการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่ม ล่าสุด อาจารย์ยุทธศักดิ์ รุ่งเรืองพลางกูร ภาควิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกก้าวล้ำไปไกลมากซึ่งล้วนแต่ต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น แต่หากใช้งานไม่ถูกวิธี หรือมีการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าที่มีประโยชน์ให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน “เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่างๆ ปัจจุบันได้มีการผลิตอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าออกจำหน่าย หรือชื่อทางเทคนิคเรียกว่า earth leakage circuit breaker เป็นเครื่องตัดตอนกระแสไฟฟ้าเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านลงดินเกินที่กำหนด อุปกรณ์นี้จะตัดไฟทันที ก่อนที่จะผู้ใช้งานจะได้รับอันตราย แต่สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในการป้องกันไม่ใช่อุปกรณ์ที่ว่านี้แต่เป็น สายดิน หรือ ground ที่ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวแต่แท้จริงแล้วมีความสำคัญอันดับแรกต่อการใช้ชีวิตประจำวันเลยทีเดียว” อาจารย์ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า มีหลายกรณีที่เกิดเหตุการณ์คนโดนไฟช๊อต นั่นเป็นเพราะว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวคนเกินพิกัดจึงทำให้เสียชีวิต จากกฎของกระแสไฟฟ้าจะมีการไหลเมื่อเกิดความต่างศักย์ ยกตัวอย่างเช่น คนที่กำลังใช้เครื่องซักผ้าซึ่งมีโครงเป็นโลหะนำไฟฟ้า และบังเอิญเกิดมีสายไฟที่มีไฟหรือเรียกว่าสายไลน์ (line) ไปสัมผัสโดนโครงโลหะโดยไม่ตั้งใจ กระแสไฟฟ้าจะไหลจากเครื่องซักผ้าซึ่งมีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่าผ่านตัวคนที่กำลังสัมผัสกับเครื่องซักผ้าอยู่ได้ เนื่องจากคนมีศักย์เป็นศูนย์เพราะยืนและสัมผัสกับพื้นดิน เมื่อมีศักย์ไฟฟ้าต่างกันกระแสไฟฟ้าจึงไหลเข้าสู่ตัวคนทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น กรณีข่าวเด็กเสียชีวิตจากไฟช๊อตขณะสัมผัสกับตู้เอทีเอ็ม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากมีการติดตั้ง “สายดิน” ซึ่งคำว่าสายดินนั้นก็คือสายไฟที่ต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของทั้งบ้าน คอนโด อาคารสำนักงาน และอื่นๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า โดยมี การเชื่อมต่อเข้ากับ ground rod หรือแท่งทองแดง หรือเหล็กห่อหุ้มด้วยทองแดง และต้องฝังให้ลึกลงไปใต้ดินให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานการติดตั้ง ซึ่งประโยชน์ของการติดตั้งสายดินคือ เป็นการรับประกันได้ว่า เครื่องใช้นั้นจะมีศักย์เท่ากับดินคือเป็นศูนย์ ไม่ว่าไฟจะรั่วในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ถ้ามีสายดินกระแสไฟฟ้าจะไหลลงดินทันที และบังคับให้เครื่องใช้ต่างๆ นั้นมีศักย์เป็นศูนย์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานเมื่อมีการสัมผัส ทั้งนี้อาจารย์ยุทธศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทที่ผู้ผลิตเลือกใช้วัสดุที่ไม่ใช่ตัวนำไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ เช่น พลาสติก แต่ก็มีบางประเภทที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องทำน้ำอุ่น ดังนั้นการติดตั้งสายดินจึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ติดตั้งให้ถูกหลักวิชาการ มีการเชื่อมต่อที่เหมาะสม และมีความต้านทานต่ำ เพราะหากติดตั้งไม่ถูกวิธีอาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้งานแทนได้ “ทางที่ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต จึงควรติดตั้งสายดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาคได้มีการบังคับให้มีการติดตั้งสายดินแล้วทุกบ้านเพราะถือเป็นเครื่องป้องกันอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะบ้านใหม่ต้องได้รับการตรวจสอบก่อนว่าความต้านทานของสายดินได้มาตรฐานเพียงพอแล้ว การไฟฟ้าจึงจะอนุมัติให้ติดมิเตอร์ไฟฟ้าได้ ส่วนบ้านเก่าที่สร้างมานานส่วนใหญ่อาจยังไม่มีการต่อสายดิน ก็สมควรที่จะปรับเปลี่ยนโดยช่างไฟฟ้ามืออาชีพ ไม่ควรทำเอง เช่น การตอกตะปูลงดินนั้นไม่ถูกต้องเป็นความเชื่อที่ผิดหลักการและไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือการกำหนดแบบมาตรฐานของปลั๊กไฟที่เป็นของไทยเราเอง ซึ่งปลั๊กไฟที่เป็นมาตรฐานเดียวกันคือการมีเต้าเสียบและเต้ารับของปลั๊กไฟที่เข้ากันได้โดยสมบูรณ์ทั้งหมด ที่สำคัญคือจะทำให้การเชื่อมกับสายดินเกิดผลโดยสมบูรณ์นั่นเอง แต่ปัญหาคือปลั๊กที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรานั้นจะเห็นว่ามีรูปลักษณะที่หลากหลายมีทั้ง 2 ขา 3 ขา ทั้งขาแบน และขากลม ซึ่งเป็นมาตรฐานจากต่างประเทศเอาเข้ามาใช้ ขณะที่ไทยไม่มีการกำหนดแบบมาตรฐานของประเทศ แม้จะที่สะดวกต่อการใช้งานแต่ก็ทำให้ความปลอดภัยลดลง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ