กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--โรงพยาบาลรามคำแหง
โดยการตรวจด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ อาทิ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และอัลตร้าซาวด์ซึ่งถือเป็นการตรวจที่เป็นสากล มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อยและผู้ป่วยไม่เจ็บตัว จากนั้นจึง รักษาด้วยการทำบอลลูนลักษณะเดียวกับการขยายหลอดเลือดที่หัวใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการและมาพบแพทย์ให้เร็ว หรือหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้รู้เท่าทันโรคร้าย และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาวะหลอดเลือดสมองตีบซึ่งเกิดจากไขมันอุดตันว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือมีระดับไขมันในเลือดสูง โอกาสที่จะเกิดกรณีไขมันหรือเศษผนังหลอดเลือดชิ้นเล็กชิ้นน้อยรวมทั้งก้อนเลือดจากหัวใจจะไหลไปอุดตันหลอดเลือดส่วนปลายที่หล่อเลี้ยงสมองของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้นมีความเป็นไปได้เสมอซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นผลให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอและ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตามัว หรือตามองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือเห็นภาพซ้อน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองตีบตันซึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว พื่อเข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการตรวจหาความผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้น สามารถตรวจด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพได้หลายอย่าง อาทิการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรืออาจตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และโดยเฉพาะการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดซึ่งนอกจากจะเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แล้วยังมีความรวดเร็วเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวด้วย และช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเว้นแต่ว่าสภาพการตีบของหลอดเลือด จะสูงเกินกว่าร้อยละ90หรือมากกว่านั้นก็จะไม่อาจตรวจพบได้
ส่วนใหญ่แล้วหลอดเลือดของผู้ป่วยจะเกิดการตีบตันที่บริเวณลำคอโดยสภาพของการตีบตันมักมาจาการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด และพอกพูนมากขึ้นเรื่อยจนเป็นอุปสรรคขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองด้วยเหตุนี้การรักษาหลอดเลือดตีบตันด้วยวิธีขยายหลอดเลือดและวางท่อค้ำยัน บริเวณคอจึงเป็นหนึ่งในวิธีหลักที่แพทย์เลือกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะหลอดเลือดตีบอยู่แล้วเกิดภาวะสมองขาดเลือดขึ้นในอนาคต ซึ่งกระบวนการใส่ขดลวดจะคล้ายคลึงกับการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้ายร่มสอดเข้าไปก่อนเพื่อรองรับเศษผนังหลอดเลือดและก้อนเลือดขณะทำการขยายหลอดเลือดอันจะช่วยป้องกันมิให้เศษเล็กเศษน้อยดังกล่าวไหลไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จากนั้นจึงทำการสอดสายสวนเข้าไปยังหลอดเลือดและสอดขดลวดค้ำยันเข้าไป ณ ตำแหน่งหลอดเลือดเป้าหมายบริเวณลำคอเพื่อค้ำผนังหลอดเลือดไว้และเปิดทางให้เลือดไหลได้สะดวก ตามปกติ
ผู้ที่มีอาการหรือสัญญาณเตือนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรต้องมาพบแพทย์ภายใน 2-3 ชั่วโมง เพราะปัจจุบันมียาที่สามารถสลายก้อนเลือดได้อย่างรวดเร็ว หรือในกลุ่มผู้ที่ยังไม่เกิดอาการเตือนแต่มีปัจจัยเสี่ยงก็ควรปรับพฤติกรรมต่างๆ เช่นลดหรืองดสูบบุหรี่ทานอาหารประเภทผักให้มากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้รู้เท่าทันโรคและส่งผลให้ การรักษามีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง นั่นเอง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999 , 0-2374-0200-16
www.ram-hosp.co.th
www.facebook.com/ramhospital